Responsive image

โรคที่พบบ่อย

1. เนื้องอกมดลูก

     คือลักษณะของกล้ามเนื้อเรียบจากชั้นกล้ามเนื้อเรียบของมดลูกที่มีการเจริญเปลี่ยนแปลงของเซลล์มากขึ้นผิดปกติ สาเหตุยังไม่ทราบแน่นอนแต่โอกาสเป็นมะเร็งไม่มาก เนื้องอกในมดลูกจะมาด้วยอาการประจำเดือนมามาก ปวดท้องน้อย หรือบางรายไม่มีอาการ เป็นต้น สามารถตรวจได้จากการตรวจภายในอัลตร้าซาวด์และถ้าก้อนขนาดใหญ่สามารถคลำได้ทางหน้าท้อง พบมากกับหญิงวัยกลางคนขึ้นไป
     ปัจจัยเสี่ยงของโรค เรื่องกรรมพันธ์ ผู้หญิงที่ไม่เคยมีบุตร ผู้ที่มีโรคอ้วน ภาวะถุงน้ำรังไข่หลายใบ ภาวะความดันโลหิตสูง เมื่อเป็นแล้วอาจมีโรคแทรกซ้อนอื่น อาทิ ท้องผูก แท้งบุตร ภาวะซีด ไตบวมโต ลิ่มเลือดอุดตัน แนวทางการรักษาเริ่มตั้งแต่ไม่ต้องรักษาสำหรับผู้ที่ยังไม่มีอาการ นัดตรวจอาการเป็นระยะ การรักษาด้วยยา ส่วนใหญ่เป็นยาฮอร์โมน และสุดท้ายรักษาด้วยการผ่าตัด โดยพิจารณาจากขนาด ตำแหน่ง อาการ และความต้องการของคนไข้ โดยแพทย์จะเป็นผู้ให้คำแนะนำถึงผลกระทบหากไม่รับการรักษา ทั้งอธิบายถึงแนวทางการรักษาในแต่ละวิธีจะให้ผลเช่นไร

2. ถุงน้ำรังไข่

     แบ่งเป็นถุงน้ำปกติคือถุงน้ำที่เกิดขึ้นและฝ่อได้เองโดยไม่ต้องผ่าตัด ซึ่งสัมพันธ์กับการเปลี่ยนแปลงของรังไข่ ฮอร์โมน และถุงน้ำที่ต้องผ่าตัด เนื่องจากฮอร์โมนไม่สามารถยุบได้เอง อาการรุนแรงที่สุด ปวดท้อง เดินไม่ได้ มักเกิดจากถุงน้ำแตก บิดขั้ว ถุงน้ำรังไข่ถ้าแตกอาจทำให้มีพังผืดในท้อง ทำให้ปวดท้องน้อยเรื้อรัง มีบุตรยาก หรือถ้าบิดขั้วอาจทำให้ต้องเสียรังไข่ข้างนั้นได้ ถุงน้ำหลายชนิดถ้าปล่อยไว้นานอาจเป็นมะเร็งได้ การรักษาสามารถทำได้ด้วยยา การผ่าตัด ขึ้นกับชนิดของถุงน้ำ

3. เยื่อบุโพรงมดลูกเจริญผิดที่

     คือเยื่อบุโพรงมดลูกที่ไปเจริญเติบโตอยู่ในอวัยวะต่างๆ ที่ไม่ใช่ตำแหน่งที่ควรจะอยู่ ซึ่งนั่นก็คือโพรงมดลูก อาจไปเจริญผิดที่ได้หลายแหล่ง เช่น ผนังหรือกล้ามเนื้อมดลูก เยื่อบุช่องท้อง ลำไส้ ผิวหนัง ปอด ที่รักษามากในปัจจุบัน ได้แก่ ที่มดลูกและที่รังไข่ สิ่งพิเศษของโรคนี้ คือสามารถใช้ฮอร์โมนในการรักษา
     ปัจจัยเสี่ยง ประจำเดือนไหลย้อนกลับเข้าไปในท้องและฝังตัว การไหลย้อนทางของประจำเดือนก็ไม่ได้ทำให้เกิดโรคนี้ในผู้หญิงทุกราย
     อาการที่สำคัญ ได้แก่ ปวดประจำเดือนมากผิดปกติ ความรุนแรงของอาการปวดเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ อาการปวดจะขึ้นอยู่กับตำแหน่งที่เกิดโรค ส่วนอาการอื่นๆ ที่พบบ่อย เช่น ปวดท้องน้อยเรื้อรัง และภาวะมีบุตรยาก การตรวจวินิจฉัยทำได้โดยการซักประวัติ ตรวจเพิ่มเติมโดย การตรวจภายในและการตรวจอัลตราซาวด์ สำหรับการรักษา ประกอบด้วย การใช้ยา การผ่าตัด ซึ่งการผ่าตัดส่องกล้องเป็นวิธีที่ได้ผลดี เพราะสามารถเห็นตำแหน่งชัดเจน ช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อย เสียเลือดน้อย โอกาสเกิดพังผืดน้อย และระยะเวลานอนโรงพยาบาล.สั้น เรียกได้ว่าดีและเป็นประโยชน์กับผู้ป่วยเป็นอย่างมาก

4. ตั้งครรภ์นอกมดลูก

     เป็นการตั้งครรภ์ที่ผิดปกติโดยตัวอ่อนไม่ได้ฝังตัวอยู่ในโพรงมดลูกแต่ไปฝังตัวในตำแหน่งที่ผิดปกตินอกโพรงมดลูกพอมีการเจริญเติบโตขยายขนาดของตัวอ่อน อวัยวะไม่สามารถขยายตัวรองรับขนาดของตัวอ่อนที่ใหญ่ขึ้นได้ โดยส่วนมากพบที่ท่อนำไข่อาการมักเกิดหลังจากที่ตั้งครรภ์ประมาณ 7 สัปดาห์
     ปัจจัยที่ทำให้มีการตั้งครรภ์นอกมดลูก เช่น เคยรับการผ่าตัดบริเวณท่อนำไข่ การขูดมดลูกการอักเสบ ติดเชื้อ เกิดพังผืด ซึ่งทำให้เกิดการรบกวนการเดินทางของไข่ สำหรับการรักษาการตั้งครรภ์นอกมดลูกที่ท่อนำไข่ บางส่วนจะฝ่อไปเอง
     รักษาเพียงการตรวจติดตามและให้ยาระงับปวด ส่วนกรณีที่ฮอร์โมนยังไม่สูง ไม่มีการตกเลือด อาจให้ยาเพื่อฆ่าเซลล์ และสุดท้ายกรณีที่เด็กค่อนข้างโต ฮอร์โมนสูง มีเลือดออก ต้องรักษาด้วยการผ่าตัดเท่านั้น ดังนั้นเมื่อพบว่าตั้งครรภ์ ควรปรึกษาฝากครรภ์กับแพทย์ เพื่อค้นหาความผิดปกติของการตั้งครรภ์ตั้งแต่ต้น

5. ภาวะเจ็บครรภ์คลอดก่อนกำหนด

     ภาวะมีเลือดออกทางช่องคลอด ท้องแข็งโดยที่อายุครรภ์ไม่ครบกำหนด มีตกขาว/น้ำออกทางช่องคลอด รักษาและวินิจฉัยโดยการติดเครื่องเครื่องตรวจการทำงานของหัวใจทารก ( Fetal Monitor ) ควรปรึกษาฝากครรภ์กับแพทย์ เพื่อค้นหาความผิดปกติของการตั้งครรภ์ตั้งแต่ต้น