Responsive image

โรคที่พบบ่อย

ทำไม ! ต้องตรวจสุขภาพ

     การคัดกรองเบื้องต้นในการดูแลสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย การหาสาเหตุและความผิดปกติที่สามารถพบได้เริ่มต้นโดยที่ยังไม่แสดงอาการก่อนที่จะลุกลาม ไปมากจนแสดงอาการออกมาโดยการแนะนำการดูแลและการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อทำให้ความสมบูรณ์ของร่างกายกลับคืนมาและลดการสูญเสียในด้านต่างๆ ทั้งในครอบครัวและเศรษฐกิจโดยรวม การที่ร่างกายของเรามีความสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม มีโภชนาการที่ดี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงมลภาวะที่เป็นพิษ การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด และที่สำคัญอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้ คือ โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่อาจจะไม่ทราบ

     การตรวจสุขภาพควรทำอย่างน้อยปีละครั้ง โดยรายละเอียดของการตรวจอาจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่างๆ โดยศึกษาจากประวัติของการใช้ชีวิตประจำวัน ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา ประวัติโรคที่เกิดในครอบครัว โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น

     การตรวจสุขภาพจะเริ่มต้นจากการซักประวัติ และค้นหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคของแต่ละคนในด้านต่างๆ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในครอบครัว การตรวจร่างกายรวมทั้งผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและผลการเอกซเรย์ จากนั้นทางแผนกจะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลเพื่อแนะนำการดูแลตนเองในด้านต่างๆ เช่น การเลือกประเภทอาหารที่ควรรับประทาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน การเลือกชนิดการออกกำลังกาย ข้อควรระมัดระวังการป้องกันโรคบางชนิดที่อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นในอนาคต รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลโรคที่เหมาะสมเพื่อการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีชีวิตที่ยืนยาวด้วยสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจในอนาคต

เราจะมาเรียนรู้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เป็นพื้นฐานทั่วไป โดยเริ่มจาก

    • ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือดและเกล็ดเลือด ( Complete Blood Count ) เพื่อตรวจดูเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ มีภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ หรือภาวะอื่นๆ ที่ดูได้จากความผิดปกติของเม็ดเลือดเช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น
    • การตรวจกรุ๊ปเลือด(Blood group) เพื่อให้ทราบว่าเรามีเลือดกรุ๊ปเอ บี โอหรือ เอบี เพราะว่า กรุ๊ปเลือดจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต
    • การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด(Fasting Plasma Glucose)เพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือดว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ เช่น ถ้าเกิน 126 mg/dl เพื่อหาแนวทางการดูแลรักษาหรือแนวทางการแก้ไขโดยอาจเริ่มจากการควบคุมอาหาร,การออกกำลังกายก่อนการใช้ยา เป็นต้น
    • การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด(Hb A1c)เพื่อดูการสะสมของน้ำตาลย้อนหลัง 2 – 3 เดือน ว่าการคุมอาหารและออกกำลังกายดีหรือไม่
    • การตรวจการทำงานของไต (BUN, Creatinine และeGFR ) วัดระดับสารเคมีในเลือดดูความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย เพื่อดูหน้าที่ว่าไตปกติ หรือมีภาวะไตเสื่อมหรือไม่
    • การตรวจระดับกรดยูริค(Uric acid ) เพื่อตรวจภาวะกรดยูริคสูงในร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคเก้าท์ หรือไขข้ออักเสบ หรือก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ
    • การตรวจระดับไขมันในเลือด (Lipid Profile ) คือการตรวจหาระดับไขมันในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดเลี้ยงสมองตีบทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีก ( Stroke ) ซึ่งไขมันในเลือดมีหลายชนิด เช่น คลอเรสเตอรอล ( Cholesterol ) ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) ไขมันความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein ) ซึ่งเป็นไขมันไม่ดีควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ และไขมันชนิดดีคือไขมันความหนาแน่นสูง (High Density Lipoprotein ) ควรให้อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะหรือโรคดังกล่าวข้างต้น

     รายละเอียดต่างๆ เบื้องต้นของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีประโยชน์มากทีเดียวในการที่จะเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของเรา เพราะว่าความผิดปกติที่พบในระยะเริ่มแรก ขอย้ำอีกครั้งความผิดปกติที่พบในระยะเริ่มแรก อาจสามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเริ่มออกกำลังกายที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญคือเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้