Responsive image

ชื่อศูนย์ .......ศูนย์ตรวจสุขภาพ....

ข้อมูลศูนย์ภาพกว้างโดยรวม

     ปัจจุบันการตรวจสุขภาพมีความสำคัญ เนื่องจากบางโรคระยะเริ่มต้นไม่มีอาการแสดงให้ทราบ การตรวจพบปัญหาในระยะแรกเริ่มจะทำให้การรักษามีประสิทธิภาพที่ดีกว่าสำหรับผู้รับบริการตั้งแต่อายุ 15 ปีขึ้นไป โดยเน้นการตรวจสุขภาพให้เหมาะสมกับภาวะสุขภาพและปัจจัยเสี่ยงด้านสุขภาพกับผู้รับบริการแต่ละราย โดยผู้รับบริการจะได้รับคำแนะนำก่อนการตัดสินใจเลือกโปรแกรมการตรวจสุขภาพ และผู้รับบริการจะได้รับการตรวจและให้คำแนะนำเรื่องสุขภาพโดยทีมแพทย์ และส่งเสริมสุขภาพโดยทีมพยาบาลที่มีความเชี่ยวชาญโดยเฉพาะ ซึ่งจะทำให้ผู้รับบริการสามารถเข้าใจยิ่งขึ้นในการปฏิบัติตัว ได้อย่างเหมาะสมกับภาวะสุขภาพของผู้รับบริการแต่ละราย เพื่อให้ผู้รับบริการทุกคนมีสุขภาพที่ดี โดยใส่ใจในรายละเอียดของแต่ละบุคคลตามปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคที่แตกต่างกัน บริการที่จัดไว้สำหรับการตรวจร่างกาย ตรวจเลือด เอกซเรย์ อัลตราซาวด์แมมโมแกรม ตรวจมวลกระดูกและเครื่องทดสอบสมรรถภาพหัวใจขณะออกกำลังกาย เป็นต้น เปิดให้บริการแก่ผู้รักและดูแลเอาใจใส่สุขภาพทั้งรายบุคคลและบุคลากรขององค์กรต่างๆ มีโปรแกรมการตรวจหลากหลายที่เหมาะสำหรับบุคลากรทุกกลุ่มอายุ นอกจากการตรวจคัดกรองโรคต่างๆ แล้วยังให้คำแนะนำในการดูแลตนเองและครอบครัวให้มีสุขภาพที่ดีอีกด้วย ให้บริการทุกวัน ไม่เว้นวันหยุดราชการ

การบริการ

    • แผนกตรวจสุขภาพ ให้บริการตรวจสุขภาพประจำปี โดยมีโปรแกรมตรวจสุขภาพที่จัดขึ้นเพื่อความเหมาะสมในแต่ละช่วงอายุ และแต่ละเพศ
    • ตรวจสุขภาพก่อนทำประกันชีวิต
    • ตรวจสุขภาพสำหรับพนักงานบริษัท
    • ตรวจสุขภาพก่อนเข้างาน
    • ตรวจสุขภาพก่อนเข้าศึกษาต่อ
    • ตรวจสุขภาพเป็นหมู่คณะ
    • ตรวจสุขภาพเพื่อขอใบรับรองแพทย์
    • ตรวจสุขภาพเพื่อทำใบขับขี่
    • ตรวจสุขภาพก่อนไปทำงานต่างประเทศ
    • ตรวจสุขภาพเพื่อขอใบอนุญาตทำงาน(Work Permit)
    • ตรวจสุขภาพและการออกใบรับรองแพทย์
    •  อื่นๆ ที่เกี่ยวกับการตรวจสุขภาพทั่วไป

เครื่องมือที่มี

    • ห้องเจาะเลือด
    • ห้องตรวจร่างกายและให้คำปรึกษาที่เป็นสัดส่วน
    • ห้องตรวจสัญญาณชีพ
    • ห้องตรวจคลื่นไฟฟ้าหัวใจ
    • ห้องฉายภาพรังสี


ทำไม!ต้องตรวจสุขภาพ

     การตรวจสุขภาพ คือ การคัดกรองเบื้องต้นในการดูแลสภาวะความสมบูรณ์ของร่างกาย การหาสาเหตุและความผิดปกติที่สามารถพบได้เริ่มต้นโดยที่ยังไม่แสดงอาการก่อนที่จะลุกลามไปมากจนแสดงอาการออกมา โดยการแนะนำการดูแลและการรักษาอย่างถูกวิธีเพื่อทำให้ความสมบูรณ์ของร่างกายกลับคืนมาและลดการสูญเสียในด้านต่าง ๆ ทั้งในครอบครัวและเศรษฐกิจโดยรวม

     การที่ร่างกายของเรามีความสมบูรณ์แข็งแรงขึ้นอยู่กับการดำเนินชีวิตที่เหมาะสม มีโภชนาการที่ดี การออกกำลังกายสม่ำเสมอ การหลีกเลี่ยงมลภาวะที่เป็นพิษ การหลีกเลี่ยงการสูบบุหรี่และเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ความเครียด และที่สำคัญอีกอย่างที่จะลืมไม่ได้ คือ โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรมที่อาจจะไม่ทราบหรือลืมคิดถึง

      การตรวจสุขภาพควรทำอย่างน้อยปีละครั้ง โดยรายละเอียดของการตรวจอาจจะแตกต่างกันไปตามช่วงอายุ และปัจจัยเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ โดยศึกษาจากประวัติของการใช้ชีวิตประจำวัน ประวัติการเจ็บป่วยที่ผ่านมา ประวัติโรคที่เกิดในครอบครัว โรคที่เกิดจากการถ่ายทอดทางพันธุกรรม เป็นต้น การตรวจสุขภาพจะเริ่มต้นจากการซักประวัติ และค้นหาปัจจัยเสี่ยงในการเกิดโรคของแต่ละคนในด้านต่าง ๆ ประวัติการเจ็บป่วยในอดีต ความเสี่ยงที่จะเป็นโรคในครอบครัว การตรวจร่างกายรวมทั้งผลตรวจเลือดทางห้องปฏิบัติการและผลการเอกซเรย์ จากนั้นทางศูนย์จะนำข้อมูลทั้งหมดมาวิเคราะห์ของแต่ละบุคคลเพื่อแนะนำการดูแลตนเองในด้านต่าง ๆ เช่น การเลือกประเภทอาหารที่ควรรับประทาน ควรหลีกเลี่ยงอาหารประเภทไหน การเลือกชนิดการออกกำลังกาย ข้อควรระมัดระวังการป้องกันโรคบางชนิดที่อาจมีแนวโน้มที่จะเป็นในอนาคต รวมทั้งปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในการดูแลโรคที่เหมาะสมเพื่อการดูแลสุขภาพให้สมบูรณ์แข็งแรง มีชีวิตที่ยืนยาวด้วยสุขภาพที่ดีทั้งกายและใจในอนาคต


เราจะมาเรียนรู้ผลการตรวจทางห้องปฏิบัติการที่เป็นพื้นฐานทั่วไป โดยเริ่มจาก

     1. ความสมบูรณ์ของเม็ดเลือด และเกล็ดเลือด ( Complete Blood Count ) เพื่อตรวจดูเม็ดเลือดแดง เม็ดเลือดขาว และเกล็ดเลือดว่าอยู่ในเกณฑ์ปกติหรือไม่ มีภาวะโลหิตจาง การติดเชื้อ หรือภาวะอื่นๆ ที่ดูได้จากความผิดปกติของเม็ดเลือดเช่นมะเร็งเม็ดเลือดขาว เป็นต้น

     2. การตรวจกรุ๊ปเลือด ( Blood group ) เพื่อให้ทราบว่าเรามีเลือดกรุ๊ปเอ บี โอหรือ เอบี เพราะว่า กรุ๊ปเลือดจะอยู่กับเราไปตลอดชีวิต

     3. การตรวจระดับน้ำตาลในเลือด ( Fasting Plasma Glucose ) เพื่อหาระดับน้ำตาลในเลือดว่ามีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นเบาหวานหรือไม่ เช่น ถ้าเกิน 126 mg/dl เพื่อหาแนวทางการดูแลรักษาหรือแนวทางการแก้ไขโดยอาจเริ่มจากการควบคุมอาหาร, การออกกำลังกายก่อนการใช้ยา เป็นต้น

     4. การตรวจระดับน้ำตาลสะสมในเลือด ( Hb A1c ) เพื่อดูการสะสมของน้ำตาลย้อนหลัง 2 – 3 เดือน ว่าการคุมอาหารและออกกำลังกายดีหรือไม่

     5. การตรวจการทำงานของไต ( BUN, Creatinine และeGFR ) วัดระดับสารเคมีในเลือดดูความสามารถในการกำจัดของเสียออกจากร่างกาย เพื่อดูหน้าที่ว่าไตปกติ หรือมีภาวะไตเสื่อมหรือไม่

     6. การตรวจระดับกรดยูริค ( Uric acid ) เพื่อตรวจภาวะกรดยูริคสูงในร่างกาย อาจก่อให้เกิดโรคเก้าท์ หรือไขข้ออักเสบ หรือก่อให้เกิดนิ่วในระบบทางเดินปัสสาวะ

     7. การตรวจระดับไขมันในเลือด ( Lipid Profile ) คือการตรวจหาระดับไขมันในเลือด ซึ่งเป็นสาเหตุของความดันโลหิตสูง กล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน เส้นเลือดเลี้ยงสมองตีบทำให้เกิดอัมพาตครึ่งซีก ( Stroke ) ซึ่งไขมันในเลือดมีหลายชนิด เช่น คลอเรสเตอรอล ( Cholesterol ) ไตรกลีเซอไรด์ ( Triglyceride ) ไขมันความหนาแน่นต่ำ (Low Density Lipoprotein ) ซึ่งเป็นไขมันไม่ดีควรอยู่ในระดับที่ต่ำกว่าปกติ และไขมันชนิดดีคือไขมันความหนาแน่นสูง (High Density Lipoprotein ) ควรให้อยู่ในระดับสูงกว่าปกติ เพื่อเป็นการป้องกันภาวะหรือโรคดังกล่าวข้างต้น


     รายละเอียดต่างๆ เบื้องต้นของการตรวจทางห้องปฏิบัติการ มีประโยชน์มากทีเดียวในการที่จะเป็นแนวทางในการดูแลสุขภาพของเรา เพราะว่าความผิดปกติที่พบในระยะเริ่มแรก ขอย้ำอีกครั้งความผิดปกติที่พบในระยะเริ่มแรก อาจสามารถแก้ไขได้โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและการเริ่มออกกำลังกายที่ถูกต้อง แต่สิ่งที่สำคัญคือเริ่มทำตั้งแต่เดี๋ยวนี้


วัคซีน


1.วัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก ป้องกันลูกน้อยได้ด้วยวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก (Tdap Vaccine) แนะนำฉีด กระตุ้นทุก 10 ปี

     คอตีบและไอกรน เป็นโรคติดต่อผ่านทางเดินหายใจ การติดเชื้อทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาจทำให้เกิดโรคกล้ามเนื้อหัวใจและประสาทอักเสบ ทำให้ไอเรื้องรัง เมื่อผู้ใหญ่ติดมักไม่เกิดอาการรุนแรง แต่สามารถเป็นพาหะได้ แต่ในทารกหากติดเชื้อมักจะเกิดอาการรุนแรง แนะนำผู้ปกครองฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันการเป็นพาหะและนำเชื้อโรคสู่ลูกน้อย

     บาดทะยัก เมื่อเชื้อบาดทะยักเข้าสู่ร่างกายทางบาดแผล อาจแสดงอาการติดเชื้อได้ตั้งแต่ 3 -21 วัน พิษของเชื้อจะทำลายระบบประสาท ทำให้มีอาการเกร็ง กระตุกของกล้ามเนื้อ ขากรรไกรแข็ง อ้าปากไม่ได้ คอแข็ง ชักกระตุก หายใจลำบาก รุนแรงจนเสียชีวิตได้


2.วัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า

     โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ เป็นโรคติดเชื้อในระบบประสาทจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมสู่คน ซึ่งโรคนี้มีอันตรายร้ายแรงถึงชีวิต ผู้ติดเชื้อมักจะเสียชีวิตเกือบทุกราย ในปัจจุบันยังไม่มียาที่ใช้รักษาโดยเฉพาะ แต่สามารถป้องกันได้ด้วยการฉีดวัคซีน


การฉีดวัคซีนป้องกันพิษสุนัขบ้า ก่อนได้รับเชื้อ

     -สัตว์แพทย์ ผู้ช่วยในคลินิกสัตว์แพทย์

     -เจ้าของฟาร์ม ผู้ที่เลี้ยงสัตว์ขาย

     -นักท่องเที่ยว ที่จะเดินทางไปยังพื้นที่ที่มีการระบาด

     -ผู้ที่ทำอาชีพเกี่ยวข้องกับสัตว์ ผู้ที่ต้องคลุกคลีกับสัตว์

     -ผู้ที่มีโอกาสถูกสัตว์กัด

     แนะนำฉีด 3 ครั้ง ใน 28 วัน


การฉีดวัคซีนหลังสัมผัสโรค

     การสัมผัสโรคได้แก่ การโดนกัด ข่วน เลีย ผิวหนังที่มีบาดแผลหรือน้ำลายของสัตว์กระเด็นเข้สู่ร่างกาย เช่น จมูก ปาก ตา และคนที่กินเนื้อสัตว์ที่สงสัย หรือเป็นโรคพิษสุนัขบ้าโดยแนะนำปรึกษาแพทย์เพื่อวางแผนการฉีดวัคซีน


3.วัคซีนป้องกันโรคอีสุกอีใสสำหรับผู้ใหญ่(Varicella Vaccine)

     แนะนำฉีด 2 ครั้ง ห่างกัน 1 เดือน \ โรคอีสุกอีใส เกิดจากการติดเชื้อไวรัส ชื่อวารีเซลลา (Varicella virus) ติดต่อโดยผ่านลมหายใจและสารคัดหลั่ง เช่นไอ จาม การสัมผัสกับผู้ป่วยและการใช้สิ่งของร่วมกัน โรคนี้สามารถเป็นได้ทุกวัย แต่มักพบมากในวัยเด็ก เมื่อเป็นแล้วมักมีภูมิต้านทานไปตลอดชีวิตและไม่เป็นซ้ำ แต่อาจเป็นโรคงูสวัดได้ถ้าร่างกายอ่อนแอหรือภูมิต้านทานต่ำ อาการ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว ไข้สูง ผื่นแดง หลังจากนั้นจะกลายเป็นตุ่มน้ำใสขึ้นทั่วร่างกาย ภาวะแทรกซ้อน คือ ติดเชื้อแบคทีเรียผิวหนัง ติดเชื้อในกระแสเลือด ปอดอักเสบ สมองอักเสบ


ใครควรฉีด

     -อายุ 13 ปีขึ้นไป แนะนำฉีด 2 เข็มห่างกันอย่างน้อย 1 เดือน

     -บุคคลที่ไม่เคยเป็นโรคอีสุกอีใส

     -บุคลากรทางการแพทย์

     -ผู้ดูแลผู้สูงอายุ

*หากมีบุคคลในบ้านป่วยเป็นโรคอีสุกอีใสแนะนำให้ทุกคนในบ้านที่ไม่เคยได้รับเชื้อมาก่อนรับการฉีดวัคซีนภายใน 5 วัน (หลังจากสัมผัสผู้ป่วยครั้งแรก)**

*หากไม่แน่ใจว่าเคยเป็นโรคอีกสุกอีใสมาก่อนหรือไม่ สามารถตรวจภูมิคุ้มกันได้ รอผล 7 วัน**


4.วัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ 2 เข็ม (ฉีดห่างกัน 0, 6 เดือน)

     วัคซีนไวรัสตับอักเสบเอคืออะไร

     เป็นโรคไวรัสตับอักเสบชนิดหนึ่งที่ติดต่อทางอาหารหรือน้ำดื่มที่ปนเปื้อน อาการ

     - อ่อนเพลียและเบื่ออาหาร คลื่นไส้อาเจียน จุกแน่นชายโครงขวา

     - ตัวเหลือง ตาเหลือง

     - มีโอกาสเกิดภาวะตับอักเสบรุนแรง และตับวายฉับพลันได้ การป้องกัน กินร้อน, ใช้ช้อนกลาง, ล้างมือบ่อยๆ, ฉีดวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบเอ

ใครควรฉีด

     - เด็กที่มีอายุตั้งแต่ 2 ปีขึ้นไป

     - ผู้ที่เสี่ยงต่อการรับและแพร่กระจายของโรค เช่น ผู้ที่ทำหน้าที่ประกอบอาหาร,บุคลากรทางการแพทย์,พนักงานทำความสะอาด,พนักงานเก็บขยะ,ผู้ใหญ่ที่ไม่มีภูมิคุ้มกันต่อโรค,ผู้ป่วยโรคตับจากสาเหตุใดๆที่ยังไม่มีภูมิไวรัสตับอักเสบเอ


5.วัคซีนไข้เลือดออก

สาเหตุ

     ไข้เลือดออกเกิดจากเชื้อไวรัสเด็งกี (Dengue) ที่มีพาหะคือ ยุงลาย ผู้ที่เคยเป็นแล้วสามารถเป็นซ้ำได้และในครั้งที่ 2 ขึ้นไปอาการมักจะรุนแรง จนถึงขั้นเสียชีวิตแนะนำฉีดวัคซีนเพื่อป้องกัน

อาการ

     - มีไข้สูงเฉียบพลัน อ่อนเพลีย

     - อาเจียนหรืออุจจาระเป็นเลือด

     - มีจุดเลือดออกตามตัว

ใครควรได้รับวัคซีน

     -ผู้ที่เคยได้รับการวินิจฉัยโรคจากแพทย์ว่าเป็นไข้เลือดออก และหายแล้วมากกว่า 1 เดือน

การฉีดวัคซีน ต้องฉีดให้ครบ 3 เข็ม แต่ละเข็มห่างกัน 6 เดือน


6.วัคซีนมะเร็งปากมดลูก HPV ไวรัสร้ายใกล้ตัวคุณป้องกันได้ด้วยวัคซีนHPV

     HPV (human Papilloma Virus) เป็นเชื้อไวรัสชนิดหนึ่ง ที่สามารถก่อให้เกิดโรคได้ในหลายอวัยวะ และเป็นสาเหตุของโรคมะเร็งปากมดลูก มะเร็งช่องคลิด มะเร็งปากช่องคลอด มะเร็งอวัยวะเพศชาย มะเร็งทวารหนัก มะเร็งช่องปากและลำคอ โดยสายพันธ์ที่มักก่อให้เกิดมะเร็ง ได้แก่ 16,18,31,33,35,45,52,58

ใครควรฉีด

     - ผู้หญิงและผู้ชายอายุ 9-45 ปี

     - เด็กอายุ9-14 ปี ฉีด 2 เข็ม ห่างกัน 6 เดือน

     - อายุมากกว่า 14 ปี ฉีด 3 เข็ม (0,2,6เดือน)

วัคซีนมีกี่ชนิด

     1. ชนิด4 สายพันธ์(สายพันธ์6/11/16/18)

     2. ชนิด 9 สายพันธ์ (สายพันธ์6/11/16/18/31/33/45/52/58)


3.โปรแกรมการรักษา

วิธีการรักษา

- ส่งปรึกษาแพทย์เฉพาะทาง อายุรแพทย์ ศัลยแพทย์ แพทย์เฉพาะทางแต่ละระบบ เช่น ระบบ เดินอาหารและตับ ระบบประสาทและหลอดเลือด ระบบสมองและหลอดเลือด ระบบต่อมไร้ท่อและเมตาบอลิสม ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบไต ระบบทางเดินหายใจและปอด ระบบโรคติดเชื้อ ระบบเลือด

     - แนะนำการปฏิบัติตัวและนัดตรวจติดตามอาการ

     - แนะนำตรวจสุขภาพประจำปีอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง

ให้การบริการดูแลสุขภาพอย่างครบวงจร

     - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการตรวจสุขภาพ

     - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับการฉีดวัคซีน

     - ส่งเสริมสุขภาพด้วยเวชศาสตร์ชะลอวัย

     - ให้คำแนะนำการใช้อาหารทดแทน อาหารเสริมอย่างถูกวิธี

     - ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับ Chelation therapy (การกำจัดสารพิษในหลอดเลือดด้วยวิธีการให้สารน้ำ)

     - ให้คำแนะนำเซลล์บำบัดและการรักษาด้วยเสตมเซลล์