Responsive image

โรคที่พบบ่อย

1. ปวดศีรษะและไมเกรน

     อาการปวดศีรษะธรรมดาเกิดจากการเกร็งตัวของกล้ามเนื้อรอบศีรษะและคอ เช่น ปวดศีรษะจากความเครียด แต่ถ้าปวดศีรษะบ่อยและนานมักจะมีสาเหตุมาจากระบบประสาทที่อยู่ลึกลงไป ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่มักบอกได้แค่เพียงอาการปวดศีรษะ ดังนั้นหากมีอาการปวดศีรษะที่ผิดปกติควรเข้ารับการตรวจรักษาก่อนที่อาการจะกำเริบมากขึ้น สำหรับอาการปวดศีรษะไมเกรนต่างจากอาการปวดศีรษะธรรมดา โดยมีสาเหตุจากหลอดเลือดในสมองขยายตัวและเกี่ยวข้องกับสารเคมีในสมองด้วย
     ไมเกรน  ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตในคนทุกวัย ในคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรน ควรพบแพทย์เพื่อให้ได้รับยาบรรเทาปวดที่ถูกต้องและเหมาะสมกับอาการ และสำหรับคนที่มีอาการปวดศีรษะไมเกรนเป็นประจำ แพทย์จะพิจารณายาป้องกันที่เหมาะสม ซึ่งจะช่วยลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้คุณภาพชีวิตดีขึ้น

2. โรคหน้ากระตุก

     โรคหน้ากระตุก เป็นอาการกระตุกที่ไม่สม่ำเสมอของกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าซึ่งเลี้ยงโดยเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7 ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมการเคลื่อนไหวของกล้ามเนื้อบริเวณหน้าผาก คิ้ว หนังตา ข้างจมูก ข้างแก้ม คางและคอ โรคนี้พบมากในคนอายุ 50-60 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สาเหตุของโรคหน้ากระตุก

    • เส้นเลือดที่บริเวณก้านสมองไปกดทับเส้นประสาทสมองเส้นที่ 7
    • เนื้องอกหรือถุงน้ำกดทับเส้นประสาท
    • สาเหตุอื่นๆ เช่น ทิกส์หรือการกระตุกของใบหน้าตามหลังกล้ามเนื้อหน้าอ่อนแรงแบบเบลล์

การรักษาโรคหน้ากระตุก

    • การรับประทานยา
    • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน พบว่า ในผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรงปานกลางถึงมากได้ผลดี 75-100% ซึ่งทำให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น โดยอาการจะเริ่มดีขึ้น 1-3 วันหลังฉีดยา แต่ในบางรายอาจใช้เวลา 2-3 สัปดาห์ ซึ่งการรักษามักได้ผลดีภายใน 2 สัปดาห์และคงอยู่ได้นาน 6-8 สัปดาห์ และผู้ป่วยมักต้องได้รับการฉีดยาซ้ำภายใน 3-6 เดือน

3. โรคตากะพริบหรือตากระตุก

      โรคตากะพริบเป็นอาการแข็งเกร็งของกล้ามเนื้อรอบๆ ลูกตาทั้ง 2 ข้าง (dystonia) ซึ่งบีบตัวมากเกินไป ทำให้เกิดการกะพริบตาถี่ๆ หรือหนังตาปิดชั่วคราว ในรายที่มีอาการรุนแรงอาจทำให้ลืมตาได้ลำบากและไม่สามารถมองเห็นได้ในขณะนั้น ซึ่งอาจส่งผลต่อการดำเนินชีวิตประจำวันและทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ ทั้งนี้โรคตากะพริบหรือตากระตุกมักพบได้บ่อยในคนอายุ 50-60 ปี โดยพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย

สาเหตุของโรคตากะพริบหรือตากระตุก

    • กลุ่มที่ไม่ทราบสาเหตุ
    • กลุ่มที่มีสาเหตุร่วมด้วย โดยสาเหตุที่พบ ได้แก่
       - ความผิดปกติของก้านสมองจากโรคหลอดเลือดสมองหรือการอักเสบ
       - โรคทางพันธุกรรม
       - โรคทางระบบเมตาบอลิสม
       - โรคความเสื่อมของสมอง เช่น โรคพาร์กินสัน

การรักษาโรคตากะพริบหรือตากระตุก

    • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน โดยฉีดเข้าที่กล้ามเนื้อรอบตา จะช่วยให้การบีบตัวของกล้ามเนื้อลดลง ทำให้อาการตากระตุกดีขึ้น 72-93% โดยทั่วไปยามักออกฤทธิ์ประมาณ 3-4 วันหลังฉีดและมีผลอยู่ได้นาน 3-4 เดือน

4. โรคคอบิด

     โรคคอบิดเป็นภาวะที่พบได้บ่อย โดยส่วนใหญ่มักพบในเพศหญิงมากกว่าเพศชาย เกิดจากการหดตัวของกล้ามเนื้อคอและหัวไหล่ซึ่งมีผลทำให้เกิดการบิดหรือผิดรูปของคอ ในบางครั้งอาจพบมีการสั่นของศีรษะร่วมด้วย ทั้งนี้ผู้ป่วยประมาณ 75% มักมีอาการปวดบริเวณกล้ามเนื้อคอ

สาเหตุของโรคคอบิด

    • ความผิดปกติทางพันธุกรรม
    • การใช้ยาบางประเภท
    • สภาวะแวดล้อม

การรักษาโรคคอบิด

    • การรับประทานยา
    • การทำกายภาพบำบัด
    • การฉีดโบทูลินัมท็อกซิน จัดเป็นการรักษาที่ได้ผลค่อนข้างดีเมื่อเปรียบเทียบกับการรักษาชนิดอื่นและมีผลข้างเคียงน้อย โดยทั่วไประยะเวลาที่ตอบสนองต่อการรักษาอยู่ระหว่าง 4-5 เดือน จากการศึกษาพบว่าการรักษาด้วยวิธีนี้สามารถลดอาการเจ็บปวดของกล้ามเนื้อได้ 70-90% อย่างไรก็ดี ถ้ากล้ามเนื้อมีการหดรั้งอย่างมากจนเกิดการยึดติดอาจทำให้การรักษาไม่ได้ผลดีเท่าที่ควร
    • การผ่าตัด

5. โรคปวดเส้นประสาทใบหน้า (trigeminal neuralgia)

     เป็นโรคที่พบได้บ่อยทั้งในผู้ชายและผู้หญิงวัยกลางคนและผู้สูงอายุ ทำให้เกิดอาการปวดที่บริเวณใบหน้า รวมถึงอาจมีอาการปวดบริเวณเหงือกและฟันจนทำให้ผู้ป่วยเข้าใจผิดคิดว่าเป็นอาการปวดฟันได้

เส้นประสาทใบหน้าหรือ trigeminal nerve

     เป็นเส้นประสาทสมองคู่ที่ 5 (เส้นประสาทที่ควบคุมสมองของคนเรามีทั้งหมด 12 คู่) ซึ่งทำหน้าที่ควบคุมกล้ามเนื้อในการเคี้ยวอาหารและรับความรู้สึกบนใบหน้า ไม่ว่าจะเป็นการสัมผัส ความรู้สึกร้อนหรือเย็น เมื่อมีสิ่งรบกวนที่ทำให้การทำงานของเส้นประสาทผิดปกติก็อาจส่งผลให้เกิดอาการผิดปกติต่างๆ ตามมาได้

สาเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

      สาเหตุของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าที่พบได้ในผู้ป่วยส่วนใหญ่ ได้แก่ การที่เส้นเลือดที่อยู่ใกล้เคียงกับเส้นประสาทใบหน้าเคลื่อนเข้ามาใกล้เส้นประสาทมากเกินไปจนเกิดการกระแทกหรือกดทับเส้นประสาท ทำให้การทำงานของเส้นประสาทใบหน้าผิดปกติและไวต่อการกระตุ้นได้ง่ายกว่าปกติ หรือมีการอักเสบของเส้นประสาทจากโรค multiple sclerosis

อาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

     ผู้ป่วยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าจะมีอาการปวดแปลบคล้ายไฟช็อตที่บริเวณใบหน้า ในบางรายอาจมีอาการคล้ายปวดฟัน คือมีอาการปวดบริเวณเหงือกร่วมด้วย ทั้งนี้อาการของโรคปวดเส้นประสาทใบหน้ามักเกิดขึ้นเป็นช่วงๆ คือเป็นๆ หายๆ แต่สามารถเกิดขึ้นซ้ำเรื่อยๆ ในระหว่างวัน นอกจากนี้ผู้ป่วยอาจมีอาการเกิดขึ้นได้ง่ายเมื่อได้รับสิ่งกระตุ้นบริเวณใบหน้า เช่น การสัมผัส ลมพัด ล้างหน้า โกนหนวด แปรงฟัน เป็นต้น

การวินิจฉัยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

     แพทย์สามารถวินิจฉัยโรคปวดเส้นประสาทใบหน้าได้โดยการซักประวัติผู้ป่วยอย่างละเอียด ร่วมกับทำการตรวจสมองด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าหรือ MRI (magnetic resonance imaging) เพื่อแยกโรคออกจากโรคอื่นๆ ที่มีลักษณะอาการคล้ายคลึงกันและช่วยให้การวินิจฉัยถูกต้องชัดเจนยิ่งขึ้น

แนวทางการรักษาโรคปวดเส้นประสาทใบหน้า

    •  การใช้ยา ในช่วงแรกของการรักษาแพทย์มักให้ยากลุ่มยากันชักเพื่อช่วยบรรเทาอาการปวด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้ไม่ได้เป็นการรักษาสาเหตุของโรค หากผู้ป่วยไม่ตอบสนองต่อยาแพทย์อาจพิจารณาแนวทางการรักษาอื่น
    • การผ่าตัด แพทย์จะทำการผ่าตัดเพื่อแยกเส้นเลือดที่กดทับเส้นประสาทออก (microvascular decompression) ซึ่งถือเป็นการแก้ไขที่สาเหตุของการเกิดโรคโดยตรง พบว่าวิธีนี้อาจช่วยให้ผู้ป่วย 80-85% หายขาดจากโรคได้ โดยความเสี่ยงของการผ่าตัดก็เช่นเดียวกับการผ่าตัดอื่นๆ เช่น การติดเชื้อ มีเลือดออกบริเวณแผลผ่าตัด เป็นต้น
    • การฉายรังสี เพื่อทำลายเส้นประสาท ทำให้เกิดอาการชาบริเวณใบหน้าแทนอาการปวด แต่การรักษาด้วยวิธีนี้จะมีผลทำให้ผู้ป่วยมีอาการชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา หรืออาจเกิดผลข้างเคียงทำให้ผู้ป่วยมีอาการทั้งปวดและชาบริเวณใบหน้าตลอดเวลา (anesthesia dolorosa)