Responsive image

โรคที่พบบ่อย

1. โรคต่อมลูกหมากโต

     คือ ภาวะที่ต่อมลูกหมากมีขนาดใหญ่ผิดปกติ ซึ่งชาวตะวันตกมักเปรียบเทียบขนาดปกติของต่อมลูกหมากว่าเท่ากับขนาดของผลวอลนัท (walnut-size) ตำแหน่งของต่อมลูกหมากจะอยู่ในบริเวณใต้กระเพาะปัสสาวะ ต่อมลูกหมากทำหน้าที่สร้างสารที่เป็นของเหลวประมาณ 30% ของน้ำอสุจิ ด้วยเหตุที่ต่อมลูกหมากจะห่อหุ้มท่อปัสสาวะส่วนต้นไว้ ดังนั้นเมื่อต่อมลูกหมากโตขึ้นก็อาจกดทับท่อปัสสาวะให้ตีบเล็กลง ส่งผลให้คนไข้มีอาการปัสสาวะติดขัด นอกจากนี้ต่อมลูกหมากโตอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ทำให้ผนังกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะหนาขึ้น เนื่องจากต้องบีบตัวแรงขึ้นเพื่อขับน้ำปัสสาวะให้ผ่านท่อแคบๆ และเมื่อผนังกระเพาะปัสสาวะหนาตัวขึ้นก็จะส่งผลต่อความสามารถในการกักเก็บน้ำปัสสาวะลดลง คนไข้จึงต้องปัสสาวะบ่อย และอาจได้รับการกระตุ้นให้ปวดปัสสาวะขึ้นมาอย่างกะทันหันได้

     โรคต่อมลูกหมากโตเป็นโรคที่พบได้เป็นปกติ และการเกิดขึ้นมักจะสัมพันธ์กับอายุ มีหลักฐานแสดงให้เห็นว่า 50% ของผู้ชายที่เป็นโรคต่อมลูกหมากนั้นมีอายุประมาณ 60 ปีที่ผ่านมายังไม่มีหลักฐานที่แสดงชัดว่า โรคต่อมลูกหมากโตจะนำไปสู่โรคมะเร็งต่อมลูกหมาก แต่อย่างไรก็ตามอาการของความผิดปกติทั้งในต่อมลูกหมากโตและมะเร็งต่อมลูกหมากนั้นมีความคล้ายกัน และอาจเป็นไปได้ว่าภาวะต่อมลูกหมากโต และมะเร็งต่อมลูกหมากจะเกิดขึ้นในขณะเดียวกันได้ โรคต่อมลูกหมากโตนี้สามารถรักษาได้

สาเหตุของโรคต่อมลูกหมากโต

     ยังไม่มีหลักฐานยืนยันถึงสาเหตุที่แน่ชัดอาจสัมพันธ์กับระดับฮอร์โมนเพศชาย

อาการของโรคต่อมลูกหมากโต

    • ปัสสาวะบ่อยหรือต้องการปัสสาวะทันที
    • ปัสสาวะนาน ปัสสาวะอ่อน ปัสสาวะสะดุด (ขัดเบา) ปัสสาวะเป็นหยดๆ
    • รู้สึกปวดขณะถ่ายปัสสาวะ
    • ปัสสาวะหลายครั้งในตอนกลางคืน
    • มีเลือดปนออกมาในปัสสาวะ

การตรวจวินิจฉัยโรคต่อมลูกหมากโต

    • การซักประวัติ และตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist) โดยการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam-DRE)
    • การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือด หรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
    • การตรวจเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA)

การรักษาโรคต่อมลูกหมาก

    • หากมีอาการเพียงเล็กน้อย ก็ไม่จำเป็นต้องรักษา
    • รักษาโดยการรับประทานยา เช่น Proscar (finasteride) ซึ่งช่วยให้ต่อมลูกหมากมีขนาดเล็กลง หรือยาคลายกล้ามเนื้อเรียบในต่อมลูกหมากให้อ่อนตัวลง (alpha-blockers)
    • ตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง (Transurethral Resection of the Prostate – TURP)
    • การใส่ตัวถ่างขยายท่อปัสสาวะบริเวณต่อมลูกหมาก (Prostatic stent) ใช้ในกรณีผู้ป่วยไม่สามารถผ่าตัดได้
    • การผ่าตัดต่อมลูกหมากโดยใช้เลเซอร์ (Greenlight Laser PVP

2. มะเร็งต่อมลูกหมาก

     เป็นอวัยวะที่อยู่ค่อนมาทางด้านล่างระหว่างกระเพาะปัสสาวะกับลำไส้ใหญ่ส่วนปลาย ทำหน้าที่ผลิตน้ำเมือกและน้ำหล่อเลี้ยงตัวอสุจิ จึงถือได้ว่ามีความสำคัญอย่างยิ่งในระบบสืบพันธุ์ของเพศชาย

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมาก

     ปัจจุบัน แพทย์พบว่าอัตราการเกิดโรคมะเร็งต่อมลูกหมากมีเพิ่มมากขึ้น โดยปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
    • อายุ ยิ่งอายุมากขึ้น โอกาสเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากก็ยิ่งสูงขึ้น ส่วนใหญ่จะพบมากในผู้ชายที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
    • พันธุกรรม ผู้ที่มีประวัติบิดาหรือพี่น้องเคยเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากจะมีโอกาสเสี่ยงกว่าคนทั่วไป
    • เชื้อชาติ พบมากในกลุ่มชายชาวตะวันตกทั้งในยุโรปและอเมริกา ขณะที่ชาวเอเชียพบได้น้อยกว่า
    • อาหาร การรับประทานอาหารที่มีไขมันสูง ให้พลังงานสูง และอาหารจำพวกเนื้อแดงอย่างต่อเนื่อง อาจเป็นสาเหตุของการเกิดมะเร็งต่อมลูกหมากได้

อาการของมะเร็งต่อมลูกหมาก

     มะเร็งต่อมลูกหมากในระยะแรกมักไม่แสดงอาการใดๆ แต่เมื่อมะเร็งขยายตัวมากขึ้นจนไปกดทับท่อปัสสาวะ จะทำให้เกิดอาการแปรปรวนของระบบทางเดินกระเพาะปัสสาวะส่วนล่าง เช่น ปัสสาวะบ่อยโดยเฉพาะช่วงกลางคืน มีอาการแสบขัดขณะปัสสาวะ ปัสสาวะไม่สุด ปัสสาวะไม่พุ่งหรือต้องใช้เวลาในการเบ่ง หากปล่อยทิ้งไว้ผู้ป่วยจะปัสสาวะลำบากและบ่อยขึ้น จนถึงขั้นปัสสาวะเป็นเลือดได้

การตรวจวินิจฉัยโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

    • การซักประวัติและตรวจร่างกายอย่างละเอียดโดยแพทย์เฉพาะทางระบบทางเดินปัสสาวะ (Physical Examination by Urologist) โดยการตรวจต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Digital Rectal Exam – DRE)โดยแพทย์จะใช้นิ้วสอดเข้าทางทวารหนัก เพื่อตรวจคลำขนาดรูปร่างและความยืดหยุ่นของต่อมลูกหมาก
    • การตรวจปัสสาวะเพื่อหาว่ามีเลือดหรือการติดเชื้อทางเดินปัสสาวะ (Urine Analysis)
    • การตรวจเลือดเพื่อตรวจสารบ่งชี้มะเร็งต่อมลูกหมาก (PSA) (prostatic-specific antigen) ซึ่งสารชนิดนี้จะถูกผลิตขึ้นมามากกว่าปกติในผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งต่อมลูกหมาก
    • การตรวจอัลตราซาวด์ต่อมลูกหมากทางทวารหนัก (Transrectal Ultrasonography) สามารถเห็นต่อมลูกหมากและกระเพาะปัสสาวะเป็นการตรวจโดยใช้คลื่นเสียง ซึ่งแพทย์จะใช้เครื่องมือสอดเข้าทางทวารหนักไปยังตำแหน่งของต่อมลูกหมาก จากนั้นจะใช้เข็มขนาดเล็กดูดเซลล์ต่อมลูกหมาก 12 ตัวอย่างจาก 12 ตำแหน่ง ออกมาตรวจทางพยาธิวิทยา
    • การตรวจโดยใช้คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI)
    • การส่องกล้องดูภายในกระเพาะปัสสาวะและต่อมลูกหมาก (Cystoscopy)

ระยะของมะเร็งต่อมลูกหมาก

     ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษาเพราะจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรค การมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น มะเร็งต่อมลูกหมากแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
     ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้น พบมะเร็งเฉพาะในต่อมลูกหมากเพียงกลีบเดียว และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
     ระยะที่ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่ขึ้นเล็กน้อย โดยพบทั้งสองกลีบของต่อมลูกหมาก ยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
     ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งมีการแพร่กระจายออกมาที่ผิวด้านนอกของต่อมลูกหมาก และอาจลุกลามเข้าท่อน้ำเชื้อด้านข้าง
     ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังกระดูกและต่อมน้ำเหลือง

การรักษาโรคมะเร็งต่อมลูกหมาก

    • การผ่าตัดต่อมลูกหมากออกทั้งหมด (Radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดแบบเปิดเพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
    • การผ่าตัดโดยใช้กล้อง (Laparoscopic radical Prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้กล้อง เพื่อเอาต่อมลูกหมากที่เป็นมะเร็งรวมทั้งต่อมน้ำเหลืองออกทั้งหมด
    • การตัดต่อมลูกหมากโดยการส่องกล้องผ่านอวัยวะเพศ เป็นการตัดชิ้นเนื้อเพื่อให้ปัสสาวะไหลคล่อง (Transurethral Resection of the Prostate – TURP)
    • การรักษาด้วยเคมีบำบัด (Chemotherapy) คือการใช้ยาต้านมะเร็ง ซึ่งสามารถผ่านไปถึงทุกส่วนของร่างกายเพื่อฆ่าเซลล์มะเร็ง โดยมีแผนกเคมีบำบัด ภายใต้การดูแลของทีมสหสาขาวิชาชีพด้านการรักษาโรคมะเร็ง
    • รังสีรักษา ซึ่งมีทั้งการฝังแร่ต่อมลูกหมาก และการฉายรังสีขึ้นอยู่กับผู้ป่วยว่าเป็นมะเร็งต่อมลูกหมากชนิดความเสี่ยงต่ำ ความเสี่ยงปานกลาง หรือความเสี่ยงสูง
    • การรักษาด้วยการควบคุม Hormone เพศชาย
    • การผ่าตัดโดยใช้แขนกลช่วยผ่าตัด (robotic–assisted da Vinci surgery หรือ da Vinci® prostatectomy) เป็นการผ่าตัดโดยใช้แขนกลหุ่นยนต์ที่ควบคุมโดยแพทย์ ซึ่งไม่เพียงช่วยให้ผู้ป่วยเจ็บตัวน้อยลง และฟื้นตัวเร็วขึ้นเช่นเดียวกับการผ่าตัดโดยวิธีส่องกล้องเท่านั้น แต่ยังเพิ่มโอกาสที่ผู้ป่วยจะสามารถควบคุมการกลั้นปัสสาวะ และคงความสามารถในการแข็งตัวของอวัยวะเพศไว้ได้

3. มะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     กระเพาะปัสสาวะเป็นส่วนหนึ่งของระบบทางเดินปัสสาวะส่วนล่างซึ่งประกอบไปด้วย กระเพาะปัสสาวะ ท่อปัสสาวะ ต่อมลูกหมากในเพศชาย และอวัยวะสืบพันธุ์ กระเพาะปัสสาวะทำหน้าที่รับน้ำปัสสาวะจากไตซึ่งผ่านมาทางท่อไต เก็บสะสมไว้แล้วขับถ่ายออกจากร่างกายผ่านท่อปัสสาวะ

     โรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะเกิดจากการที่เซลล์เยื่อบุผนังด้านในของกระเพาะปัสสาวะแบ่งตัวเพิ่มมากขึ้นอย่างผิดปกติจนกลายเป็นเนื้องอกและมะเร็งในที่สุด ในกรณีที่มีการลุกลามเซลล์มะเร็งจะแพร่กระจายลึกเข้าไปยังผนังกระเพาะปัสสาวะชั้นอื่น และอาจลุกลามออกไปยังเนื้อเยื่อและอวัยวะอื่นๆ เช่น ต่อมน้ำเหลือง กระดูก ปอด และตับ

     มะเร็งกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็นหลายชนิด ขึ้นอยู่กับชนิดของเซลล์ที่พัฒนาไปเป็นก้อนมะเร็ง โดยชนิดที่พบมากถึงกว่าร้อยละ 90 คือชนิดที่เรียกว่า transition cell carcinoma หรือ urothelial carcinoma ซึ่งเป็นมะเร็งที่เกิดขึ้นในเซลล์เยื่อบุผนังภายในกระเพาะปัสสาวะ นอกจากนี้ยังมีชนิด squamous cell carcinoma ที่เกิดจากการติดเชื้อหรืออักเสบเรื้อรังภายในกระเพาะปัสสาวะ โดยพบได้เพียงร้อยละ 4-5 และชนิดอื่นๆ ที่พบได้ยาก

ปัจจัยเสี่ยงของการเกิดมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     โดยทั่วไปมะเร็งกระเพาะปัสสาวะมักพบในผู้ที่มีอายุราว 40 ปีขึ้นไป แต่ปัจจุบันมีแนวโน้มที่จะพบในผู้ที่มีอายุน้อยลง และพบในผู้ชายมากกว่าผู้หญิง โดยปัจจัยเสี่ยงหลักๆ ที่ทำให้เกิดโรค ได้แก่
    • บุหรี่ ครอบคลุมทั้งผู้สูบบุหรี่ ผู้ที่ได้รับควันพิษจากการอยู่ใกล้ชิดกับผู้สูบบุหรี่ และผู้ทเคยมีประวัติสูบบุหรี่แม้จะเลิกสูบแล้วก็ตาม
    • การสัมผัสสารเคมีบางชนิดต่อเนื่องเป็นเวลานาน โดยเฉพาะผู้ที่ทำงานในอุตสาหกรรมสิ่งทอ ยาง หนัง สี และการพิมพ์ เป็นต้น
    • การติดเชื้อและระคายเคืองในกระเพาะปัสสาวะแบบเรื้อรัง เช่น ติดเชื้อในระบบทางเดินปัสสาวะ มีนิ่วในกระเพาะปัสสาวะ การใส่คาสายสวนปัสสาวะ เป็นต้น
    • พันธุกรรม เช่น มีความผิดปกติทางพันธุกรรม หรือมีประวัติบุคคลในครอบครัวเป็นมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • ยาบางชนิดที่ได้จากการทำเคมีบำบัด

อาการของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

    • ปัสสาวะปนเลือดโดยไม่มีอาการเจ็บปวดร่วมด้วย เป็นอาการที่พบได้บ่อยที่สุด
    • มีอาการผิดปกติในการปัสสาวะ เช่น ปวดเบ่งขณะปัสสาวะ ปัสสาวะบ่อย แสบ ขัด หรือกลั้นปัสสาวะไม่อยู่
    • อาการที่เกิดจากเซลล์มะเร็งลุกลามไปยังอวัยวะอื่นๆ เช่น ปวดหลังส่วนล่างด้านใดด้านหนึ่ง ปวดกระดูก คลำพบต่อมน้ำเหลือง เท้าบวม อ่อนเพลีย ไม่อยากรับประทานอาหาร และน้ำหนักลด

การตรวจและวินิจฉัยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     มะเร็งกระเพาะปัสสาวะเป็นมะเร็งที่มักตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะแรก เนื่องจากผู้ป่วยส่วนใหญ่จะมาพบแพทย์ด้วยอาการปัสสาวะปนเลือด โดยการตรวจเบื้องต้น ได้แก่
    • การตรวจปัสสาวะ เพื่อหาว่ามีเม็ดเลือดแดงในปัสสาวะมากผิดปกติหรือไม่ รวมทั้งหาเซลล์มะเร็งที่อาจปนออกมากับปัสสาวะ (urine cytology)
    • การส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะ (cystoscopy) โดยแพทย์จะส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปยังกระเพาะปัสสาวะ เพื่อตรวจหาตำแหน่ง ขนาด จำนวนและรูปร่างของเนื้องอก และตัดชิ้นเนื้อส่งตรวจทางพยาธิวิทยาเพื่อยืนยันว่าเป็นเซลล์มะเร็งหรือไม่ เป็นชนิดใด และมีการลุกลามมากน้อยแค่ไหน ซึ่งการตรวจด้วยวิธีนี้เป็นการตรวจที่แม่นยำและมีความสำคัญอย่างยิ่งในการวินิจฉัยโรคมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ
    • การตรวจทางรังสีวิทยา อาทิ การตรวจอัลตราซาวนด์ไต ท่อไต และกระเพาะปัสสาวะ (Ultrasound KUB ) การตรวจไตและทางเดินปัสสาวะโดยการฉีดสี (intravenous pyelogram) และการตรวจเอกซเรย์คอมพิวเตอร์ (CT scan) บริเวณช่องท้องทั้งหมดเพื่อตรวจหาความผิดปกติของอวัยวะในระบบทางเดินปัสสาวะ นอกจากนี้ ยังอาจมีการตรวจเอกซ์เรย์กระดูกและปอด หากสงสัยว่ามะเร็งจะลุกลามไปยังบริเวณดังกล่าว

ระยะของมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     ระยะของมะเร็งกำหนดจากตำแหน่งของเซลล์มะเร็ง การแพร่กระจายของมะเร็ง และการทำงานที่ผิดปกติของอวัยวะในร่างกาย ระยะของมะเร็งมีความสำคัญต่อการรักษาเพราะจะช่วยให้แพทย์หาวิธีการรักษาที่เหมาะสม ส่งผลต่อการหายของโรค การมีชีวิตที่ยืนยาวหรือดำรงชีวิตได้ดีขึ้น
     มะเร็งกระเพาะปัสสาวะแบ่งออกเป็น 4 ระยะ ได้แก่
    • ระยะที่ 1 เป็นระยะเริ่มต้น พบก้อนมะเร็งเฉพาะบริเวณเยื่อบุผนังกระเพาะปัสสาวะ และยังไม่มีการแพร่กระจายของเซลล์มะเร็ง
    • ระยะที่ 2 เซลล์มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อของกระเพาะปัสสาวะ แต่ยังคงจำกัดอยู่เฉพาะในกระเพาะปัสสาวะ
    • ระยะที่ 3 เซลล์มะเร็งลุกลามไปยังเนื้อเยื่อรอบๆ กระเพาะปัสสาวะ
    • ระยะที่ 4 เซลล์มะเร็งแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลืองและอวัยวะข้างเคียง รวมถึง ปอด ตับ และกระดูก

วิธีการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะ

     แนวทางการรักษามะเร็งกระเพาะปัสสาวะขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิด ระยะ ลักษณะความรุนแรงของมะเร็ง และสุขภาพโดยรวมของผู้ป่วย โดยทั่วไปแล้วหากมะเร็งยังอยู่ในระยะแรก วิธีการรักษาได้แก่
     1. การผ่าตัดโดยการส่องกล้องผ่านท่อปัสสาวะเข้าไปตัดเนื้องอกในกระเพาะปัสสาวะ (transurethral resection of bladder tumor หรือ TURBT) เพื่อตัดหรือทำลายก้อนมะเร็งและนำเนื้อเยื่อมาตรวจว่าเป็นมะเร็งชนิดใด และลุกลามลึกถึงชั้นไหนของกระเพาะปัสสาวะ
     2. ในผู้ป่วยบางราย แพทย์อาจแนะนำให้ใช้ยา ฆ่าเซลล์มะเร็ง ร่วมด้วยเพื่อลดโอกาสการกลับมาเป็นซ้ำ โดยจะใส่ยาฆ่าเซลล์มะเร็งผ่านสายสวนเข้าไปในกระเพาะปัสสาวะ ทิ้งไว้ประมาณ 2 ชั่วโมง จากนั้นจึงให้ผู้ป่วยถ่ายปัสสาวะทิ้งยาออกมา โดยจะทำทุกสัปดาห์ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 6 สัปดาห์เป็นอย่างน้อย
     ในกรณีที่มะเร็งลุกลามเข้าสู่ชั้นกล้ามเนื้อ หรือตั้งแต่ระยะที่ 2 ขึ้นไป แพทย์อาจต้องพิจารณาผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด ร่วมกับการทำเคมีบำบัด และ/หรือรังสีรักษาเพื่อลดการลุกลามและเกิดซํ้าของมะเร็ง ทั้งนี้การผ่าตัดกระเพาะปัสสาวะออกทั้งหมด (radical cystectomy) เป็นการตัดกระเพาะปัสสาวะออกพร้อมกับต่อมน้ำเหลืองโดยรอบ โดยผู้ป่วยชายต้องตัดต่อมลูกหมากและถุงเก็บอสุจิซึ่งอยู่ด้านหลังกระเพาะปัสสาวะติดกับต่อมลูกหมากออกด้วย ส่วนผู้ป่วยหญิงจำเป็นต้องตัดมดลูก ท่อนำไข่ รังไข่ และช่องคลอดบางส่วนออก จากนั้นจึงใช้ลำไส้บางส่วนมาสร้างเป็นกระเพาะปัสสาวะใหม่ เพื่อให้ผู้ป่วยสามารถระบายน้ำปัสสาวะออกจากร่างกายได้โดยอาจใช้ถุงปัสสาวะ ใช้สายสวนผ่านผนังหน้าท้อง หรือใช้สายสวนผ่านท่อปัสสาวะ ขึ้นอยู่กับโรคและความต้องการของผู้ป่วย การดูแลตัวเองของผู้ป่วยมะเร็งกระเพาะปัสสาวะ มะเร็งกระเพาะปัสสาวะจัดเป็นโรคมะเร็งที่ไม่รุนแรงมากนัก เพราะมักตรวจพบได้ตั้งแต่ระยะที่ 1 แต่ก็เป็นมะเร็งชนิดที่สามารถกลับมาเป็นซ้ำได้สูงมาก จึงจำเป็นที่ผู้ป่วยจะต้องดูแลรักษาสุขภาพร่างกายอย่างเคร่งครัด หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ และเข้ารับการส่องกล้องตรวจกระเพาะปัสสาวะเพื่อติดตามโรคทุก 3 เดือนหรือตามนัดของแพทย์ทุกครั้ง