Responsive image

แผนกกุมารเวช

ข้อมูลศูนย์

     คลินิกกุมารเวช ตรวจบริการตรวจสุขภาพ การวินิจฉัยโรค และรวมถึงการดูแล รักษาพยาบาลเด็กตั้งแต่แรกเกิด จนถึงอายุ 15 ปี จนถึงโรคที่มีอาการหนักซึ่งจะต้องได้รับการรักษาและดูแลอย่างใกล้ชิด โดยการทำงานร่วมกันของทีมกุมารแพทย์และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางในสาขาที่เกี่ยวข้อง ด้วยอุปกรณ์การแพทย์ที่ได้มาตรฐาน โดยใช้กระบวนการตามมาตรฐานวิชาชีพ บริการให้คำปรึกษา แนะนำเกี่ยวกับการดูแลเด็กเพื่อให้บุตรหลานของท่านได้รับการรักษาที่ถูกต้องอย่างทันท่วงที

     นอกจากทีมกุมารแพทย์ และแพทย์ผู้เชี่ยวชาญในสาขาต่าง ๆ ที่พร้อมให้บริการอย่างอบอุ่น และอุปกรณ์การแพทย์ที่ทันสมัยแล้ว เรายังใส่ใจในสภาพแวดล้อมที่สะอาดปลอดภัย โดยการแยกบริเวณอย่างชัดเจนเป็น 2 ส่วน ได้แก่ คลินิกสุขภาพเด็กดี สำหรับการตรวจสุขภาพเด็กและการให้ภูมิคุ้มกัน และคลินิกกุมารเวช สำหรับเด็กที่มีอาการป่วย เพื่อป้องกันการแพร่กระจายของเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคไปสู่เด็กคนอื่น โดยมีทีมเจ้าหน้าที่ของคลินิกกุมารเวชคอยดูแลเอาใจใส่อย่างใกล้ชิด บริการ One Stop Service สามารถลงทะเบียน รับการตรวจรักษา ชำระเงิน และรับยาได้ ที่แผนกกุมารเวชโดยไม่ต้องผ่านแผนกผู้ป่วยนอก

การบริการ

คลินิกเด็กป่วย

     ให้บริการตรวจวินิจฉัยและรักษาโรคเด็กทั่วไป ผู้ป่วยเด็กที่มีปัญหาวิกฤต โดยมีกุมารแพทย์ให้การดูแลรักษา 24 ชั่วโมง ส่งปรึกษาพบแพทย์เฉพาะทางแต่ละสาขา กุมารเวชศาสตร์โรคหัวใจ โรคไต โรคเลือดและมะเร็งในเด็ก โรคติดเชื้อในเด็ก กุมารเวชศาสตร์พัฒนาการและพฤติกรรมเด็ก กุมารศัลยศาสตร์

ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยา กุมารแพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านพัฒนาการและพฤติกรรม

คลินิกเด็กดี (Well baby Clinic)

     1. ตรวจติดตามการเจริญเติบโต และพัฒนาการ

     2. การรับวัคซีน

     3. การตรวจคัดกรองโรค และความผิดปกติทางพัฒนาการ

     4. การตรวจสุขภาพเด็กและการให้คำแนะนำในการเลี้ยงดู

การตรวจร่างกายโดยกุมารแพทย์

     1. ตรวจทั่วไป ความสมบูรณ์ ของร่างกาย เช่น แข็งแรง อ้วน ผอม ตรวจความผิดปกติ เช่น สีผิว ลักษณะของผื่น

     2. ตรวจตา ความผิดปกติที่อาจพบได้ เช่น ตาแฉะ ตาแดง หรือ ภาวะที่มีน้ำตาไหลเอ่ออยู่เสมอ

     3. การประเมินการเจริญเติบโตของเด็ก โดยใช้ growth chart /BMI

     4. การตรวจทางห้องปฏิบัติการ ตรวจติดตามฮอร์โมนไทรอยด์ ,ตัวเหลือง ,ภาวะโลหิตจาง

     6. การสร้างเสริมภูมิคุ้มกันโรค กำหนดบริการวัคซีนพื้นฐานที่เด็กไทยทุกคนควรได้รับ และวัคซีนเสริม

     7. การให้คำแนะนำปรึกษา

     8. การประเมินพัฒนาการในแต่ละช่วงวัย

     9. การให้วัคซีนสำหรับเด็กโตและวัยรุ่น ช่วงวัยรุ่นมีการให้วัคซีนเพิ่มเติม ได้แก่ วัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูกในเพศหญิง ป้องกันหูดและมะเร็งบริเวณอวัยวะเพศในเพศชาย นอกจากนี้ยังมีวัคซีนไข้หวัดใหญ่สำหรับกระตุ้นภูมิคุ้มกันต่อเนื่อง รวมทั้งวัคซีนไข้เลือดออกที่เริ่มรับได้ตั้งแต่อายุ 9 ปีขึ้นไป

ขอบเขตการให้บริการ

     กุมารเวชกรรมทั่วไป

     กุมารเวชกรรมโรคเลือดและมะเร็ง

     กุมารเวชกรรมโรคติดเชื้อ

     กุมารเวชกรรมโรคหัวใจ

     กุมารเวชกรรมโรคไต

     กุมารเวชกรรมพัฒนาการและพฤติกรรม

     ประเมิน/กระตุ้นพัฒนาการ

     ปรับพฤติกรรม/กิจกรรมบำบัด

     กุมารศัลยศาสตร์

โรคที่พบบ่อย

ไข้ชัก (Febrile Seizure)

     ภาวะมีไข้ คือ ภาวะที่อุณหภูมิของร่างกายสูงกว่าระดับปกติ คือ มีอุณหภูมิร่างกายตั้งแต่ 37.5 องศาเซลเซียสขึ้นไป เนื่องจากโรคหรือภาวการณ์เจ็บป่วย

สาเหตุ

     1. เกิดจากการติดเชื้อ เช่น การติดเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส

     2. เกิดจาสาเหตุอื่นๆ ได้แก่

       2.1 โรคภูมิแพ้

       2.2 การอักเสบของอวัยวะ

       2.3 การได้รับสารพิษ ยา

       2.4 โรคทางสมอง

       2.5 การได้รับวัคซีน

       2.6 ภาวะขาดน้ำ

       2.7 สภาพแวดล้อม เช่น อากาศร้อน การใส่เสื้อผ้าหนาหรือหลายชิ้น โดยเฉพาะในทารกที่ได้รับการห่อตัวมากเกินไป

เมื่อเด็กมีไข้ต้องได้รับการช่วยเหลือ เพื่อลดอุณหภูมิของร่างกายลงเป็นอันดับแรก เพื่อป้องกันอาการชัก ทำให้เด็กเกิดความผิดปกติทางระบบประสาท เช่น อัมพาตครึ่งซีก เป็นต้น มีวิธีการปฏิบัติดังต่อไปนี้

     1. ควรประเมินภาวะไข้จากการสังเกตอาการและอาการแสดงของภาวะไข้ ได้แก่ อาการหนาวสั่น เหงื่อออก ปวดศีรษะ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย และเบื่ออาหาร

     2. ดูแลให้รับประทานยาลดไข้ หากเด็กมีไข้ 37.8 องศาเซลเซียสขึ้นไป ควรให้รับประทานยากลุ่มพาราเซตามอล โดยให้รับประทานทุก 4 – 6 ชั่วโมง

     3. การเช็ดตัวด้วยน้ำระดับอุณหภูมิห้องจะทำให้ระบายความร้อนออกจากร่างกายในขณะเช็ดตัว ซึ่งมีวิธีการเช็ดตัวลดไข้ ดังนี้

       3.1 จัดเตรียมอุปกรณ์ให้พร้อม ได้แก่ กะละมังใส่น้ำอุ่น ผ้าเช็ดตัวผืนเล็ก 2 – 3 ผืน ผ้าเช็ดตัวผืนใหญ่ 1 ผืน ใช้ห่มตัวเด็ก

       3.2 เช็ดตัวเด็กโดยใช้ผ้าชุบน้ำบิดให้หมาดๆ แล้วเช็ดจากอวัยวะส่วนปลายของร่างกายเข้าหาลำตัว ร่วมกับการประคบผิวหนังตามจุดที่รวมของหลอดเลือดขนาดใหญ่ใต้ผิวหนัง เช่น บริเวณหน้าผาก ซอกคอ รักแร้ ขาหนีบ และข้อพับต่างๆ เพื่อช่วยให้ ความร้อนถ่ายเทออกจากร่างกาย ระยะเวลาที่ใช้ในการเช็ดตัวลดไข้ประมาณ 15 – 20 นาที ภายหลังเสร็จสิ้นการเช็ดตัวลดไข้แล้วประมาณ 30 นาที ควรวัดไข้ซ้ำ ถ้าหากไข้ยังไม่ลดให้ทำซ้ำทุกๆ 2 ชั่วโมง

     4. สวมเสื้อผ้าให้บาง ไม่ควรห่อตัวเด็กหรือห่มผ้าที่หนาเกินไป เพื่อให้ความร้อนได้ระบายออกไปได้ดีขึ้น

     5. กระตุ้นเด็กดื่มน้ำหรือนมมากๆ เพื่อทดแทนน้ำที่เสียไปทางเหงื่อ

     6. อยู่ในห้องที่มีอากาศถ่ายเทได้สะดวก เช่น การเปิดประตู หน้าต่าง การใช้พัดลมเป่า แต่ไม่ควรเป่าตรงตัวเด็ก เพราะจะทำให้หนาวสั่นได้ ถ้าเป็นห้องปรับอากาศ ควรปรับอุณหภูมิอยู่ระหว่าง 16 – 19 องศาเซลเซียส

     7. ให้เด็กได้รับการนอนหลับพักผ่อนให้เพียงพอ เพื่อลดการเผาผลาญภายในร่างกาย

การปฏิบัติ..เมื่อเกิดอาการชักจากภาวะไข้

     1. จัดให้นอนตะแคงหน้าไปด้านใดด้านหนึ่ง เพื่อให้น้ำลายไหลออกจากปาก ไม่สำลักเข้าไปในทางเดินหายใจและลิ้นไม่ตกอุดหลอดลม

     2. จัดให้เด็กนอนราบใช้ผ้านิ่มๆ เช่น ผ้าห่มหรือผ้าเช็ดตัวหนุนบริเวณใต้ศีรษะ เพื่อป้องกันไม่ให้ศีรษะกระแทกกบพื้นเตียงและระหว่างชักต้องระวังศีรษะ แขนและขา กระแทกกับของแข็งหรือสิ่งมีคม โดยเก็บสิ่งของที่อาจเป็นอันตรายออก และไม่ควรเคลื่อนย้ายเด็กขณะชัก

     3. ไม่ควรผูกยึดตัวเด็กขณะที่มีอาการชัก เพราะอาการผูกยึดอาจจะทำให้กระดูกหักได้

     4. คลายเสื้อผ้าให้หลวม โดยเฉพาะรอบๆ คอ เพื่อให้เด็กหายใจได้สะดวก และอย่าให้มีคนมุงมาก เพื่อให้อากาศถ่ายเทดี

     5. การกดลิ้นเป็นสิ่งที่ไม่จำเป็น เนื่องจากการพยายามกดปากเด็กให้อ้าออก เพื่อใส่ไม้กด ซึ่งอาจจะเป็นอันตรายได้จากฟันหัก และหลุดไปอุดหลอดลม

     6. สังเกตลักษณะการชัก ลักษณะของใบหน้า ตาขณะชัก ระดับความรู้สติของเด็กก่อน ระหว่าง และหลังชัก พฤติกรรมที่ผิดปกติหลังการชัก ระยะเวลาที่ชักทั้งหมด จำนวนครั้งหรือความถี่ในการชัก

     7. หลีกเลี่ยงสิ่งที่กระตุ้นให้เด็กเกิดการชักขึ้นอีก เช่น จัดสิ่งแวดล้อมให้เงียบสงบ ดูแลไม่ให้เด็กมีไข้

     8. สังเกตและติดตามอาการชักที่อาจเกิดขึ้นอีก ถ้าเด็กชักเกิน 5 นาที หรือชักซ้ำหลังจากชักครั้งแรกผ่านไป อาการไม่ดีขึ้นภายหลังการชัก มีหายใจลำบาก ถ้าอยู่ที่บ้านควรรีบนำส่งโรงพยาบาลเพื่อรับการรักษาต่อไป

ควรพบแพทย์ทันที หากมีอาการดังนี้

     1. อายุน้อยกว่า 3 เดือน แล้วมีไข้

     2. ไข้สูงว่า 40.5 องศาเซลเซียส

     3. เด็กดูซึมลง

ควรพบแพทย์ภายใน 24 ชั่วโมง หากมีอาการดังนี้

     1. อายุระหว่าง 3 – 6 เดือน ยกเว้นไข้ที่เกิดหลังฉีดวัคซีน คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก

     2. ไข้ระหว่าง 40 - 40.5 องศาเซลเซียส

     3. มีไข้มานานกว่า 24 ชั่วโมง โดนไม่มีอาการเป็นหวัดร่วมด้วย

     4. มีไข้นานกว่า 3 วัน

     5. ไข้ลดลงมากกว่า 24 ชั่วโมง แล้วกลับมาใหม่

โรคปอดบวมในเด็ก

     โรคปอดบวม เป็นโรคติดต่อระบบทางเดินหายใจที่เกิดการอักเสบของเนื้อปอดส่วนปลายสุด หรือการอักเสบของถุงลมเล็กๆ ทำให้การแลกเปลี่ยนอากาศภายในถุงลมไม่ดี ทำให้เด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี เสียชีวิตได้มาก โดยเฉพาะถ้าเป็นเด็กที่เกิดมาน้ำหนักตัวน้อย เด็กอายุต่ำกว่า 1 ปี เด็กขาดสารอาหาร หรือเด็กที่มีความพิการแต่กำเนิด

สาเหตุ

     - เกิดจากการติดเชื้อ เช่น เชื้อไวรัส หรือเชื้อแบคทีเรีย

     - เกิดจากการสำลักอาหารและนมอย่างรุนแรง

การติดต่อ

     - หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมาหรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

     - ไอ จามรดกัน

     - คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม

     - สำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่โดยปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง

การติดต่อ

     - หายใจเอาเชื้อโรคที่กระจายอยู่ในอากาศเข้าไป เชื้อเหล่านี้อยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูกน้ำลายของผู้ป่วยที่ไอ จาม ออกมาหรือติดต่อโดยการใช้ภาชนะและสิ่งของร่วมกับผู้ป่วย

     - ไอ จามรดกัน

     - คลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นปอดบวม

     - สำลักเอาเชื้อแบคทีเรียที่มีอยู่โดยปกติในจมูกและคอเข้าไป ซึ่งมักพบในเด็กที่มีภูมิต้านทานบกพร่อง

อาการและอาการแสดง

     - มีไข้

     - ไอมาก ระยะแรกมีลักษณะไอแห้งๆ แต่ระยะต่อมาเสมหะเหนียวข้น และอาจมีเลือดปนเนื่องจากมีการคั่งของน้ำในปอด

     - หายใจเร็วหรือหายใจหอบ ในเด็กเล็กที่มีอายุต่ำกว่า 2 เดือน อาจไม่มีอาการไอ แต่มีไข้ หายใจเร็ว เหนื่อยหอบ ถ้ามีอาการรุนแรงเด็กจะไม่ดูดนมหรือน้ำ

     - หายใจชายโครงบุ๋มขณะหายใจเข้า หายใจมีเสียงดังผิดปกติ

การรักษา ในเด็กที่ป่วยเป็นปอดบวม

     ในระยะแรก หรือไม่รุนแรง : มีอาการไข้สูง ไอ หายใจเร็ว ควรพาไปรับการรักษาจากแพทย์ อาจให้ยาปฏิชีวนะติดต่อกัน 5 - 7 วัน เพื่อรักษาการอักเสบของปอด

     ในภาวะป่วยหนัก หรือรุนแรง : จะมีอาการอย่างใดอย่างหนึ่ง ดังต่อไปนี้ คือ ไม่ยอมกินนมหรือน้ำ ซึมมาก ปลุกตื่นยาก หายใจมีเสียงดัง หายใจแรงจนชายโครงบุ๋ม ควรได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาล

การป้องกัน

     ในเด็กเล็กๆ จะต้องหลีกเลี่ยงการติดเชื้อจากผู้ใหญ่ที่เป็นโรคไอ โดยไม่ให้อยู่ใกล้ชิดหรือคลุกคลีกับผู้ป่วย นอกจากนี้ สิ่งแวดล้อมที่ทำให้เป็นหวัดและปอดบวมได้ง่าย คือการอยู่ในบ้านที่มีคนสูบบุหรี่ บ้านที่ใช้ฟืนหุงต้มอาหารและมีควันในบ้าน ควรเลี้ยงลูกด้วยนมแม่อย่างน้อย 4 - 6 เดือน เด็กต้องได้รับการฉีดวัคซีนคุ้มกันโรคตามมาตรฐานกระทรวงสาธารณสุข

ทำอย่างไรจึงจะปกป้องลูกน้อยจากโรคปอดอักเสบได้

     - การเลี้ยงดูเด็กให้มีสุขภาพแข็งแรง และสร้างสุขอนามัยที่ดีด้วยการล้างมือเป็นประจำ จะช่วยลดการติดเชื้อที่สัมผัสมากับมือได้ หรือใส่หน้ากากอนามัย

     - ควรหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปในที่ชุมชนและสถานที่แออัดเป็นเวลานานๆ

     - หากบุตรหลานของท่านมีอาการไข้ ไอ หอบ ควรรีบมาพบแพทย์โดยเร็ว เพื่อจะได้รับการรักษาอย่างทันท่วงที

     - ปรึกษาแพทย์ เพื่อพิจารณาเสริมภูมิคุ้มกันด้วยวัคซีนสำหรับป้องกันโรคปอดบวม (Hib vaccine, Pneumococcal vaccine รวมทั้งวัคซีนป้องกันโรคไข้หวัดใหญ่ Influenza vaccine)

โรคมือ เท้า ปาก (Hand foot mouth disease)

การแพร่ติดต่อของโรคมือ เท้า ปาก

     การติดต่อส่วนใหญ่ เกิดจากได้รับเชื้อไวรัสเข้าสู่ปากโดยตรง โรคแพร่ติดต่อง่ายในช่วงสัปดาห์แรกของการป่วย โดยเชื้อไวรัสอาจจะติดมากับมือ หรือของเล่นที่เปื้อนน้ำลาย น้ำมูก น้ำจากตุ่มพองและแผลหรืออุจจาระของผู้ป่วยและเกิดจากการไอ จามรดกัน โดยหายใจเอาเชื้อที่แพร่กระจายจากละอองฝอยของผู้ป่วย ในระยะที่เด็กมีอาการทุเลาหรือหายป่วยแล้วประมาณ 1 เดือน จะพบเชื้อในอุจจาระได้ แต่การติดต่อระยะนี้จะเกิดขึ้นได้น้อยกว่า

อาการของโรคมือ เท้า ปาก

     หลังจากได้รับเชื้อ 3 – 6 วัน ผู้ติดเชื้อจะเริ่มแสดงอาการป่วย เริ่มด้วยมีไข้ อ่อนเพลีย ต่อมาอีก 1 – 2 วัน มีอาการเจ็บปาก กลืนน้ำลายไม่ได้และไม่ยอมทานอาหาร เนื่องจากมีตุ่มแดงที่ลิ้น เหงือก และกระพุ้งแก้ม ตุ่มนี้จะกลายเป็นตุ่มพองใส บริเวณรอบๆ จะพบตุ่มหรือผื่นนูนสีแดง (มักไม่คัน) ที่ฝ่ามือ นิ้วมือ ฝ่าเท้า และอาจจะพบที่ก้นด้วย อาการจะทุเลา และหายเป็นปกติภายใน 7 – 10 วัน

การรักษาโรคมือ เท้า ปาก

     โรคนี้ไม่มียารักษาโดยเฉพาะ แพทย์จะให้ยารักษาตามอาการ เช่น ยาลดไข้ ยาทาแก้ปวด ในรายที่มีแผลที่ลิ้น หรือกระพุ้งแก้ม ควรเช็ดตัวเพื่อลดไข้เป็นระยะ และให้ผู้ป่วยรับประทานอาหารอ่อนๆ รสไม่จัด อาหารเหลวและเย็น ดื่มน้ำและน้ำผลไม้ พักผ่อนมากๆ ถ้าเป็นเด็กอ่อน อาจต้องป้อนนมให้แทนการดูดจากขวด

การป้องกันโรคมือ เท้า ปาก

     โรคนี้ยังไม่มีวัคซีน ป้องกันได้โดยการรักษาสุขอนามัย ผู้ปกครองควรจะแนะนำบุตรหลานและผู้เลี้ยงดู ให้รักษาความสะอาด ตัดเล็บให้สั้น หมั่นล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะหลังการขับถ่ายและก่อนรับประทานอาหาร รวมทั้งการใช้ช้อนกลาง หลีกเลี่ยงการใช้สิ่งของร่วมกัน เช่น แก้วน้ำ หลอดดูด ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดมือ เป็นต้น

คำแนะนำการดูแลเด็กป่วยโรคมือ เท้า ปาก

     1. แยกเด็กป่วยให้พักอยู่บ้าน หยุดเรียนจนกว่าตุ่มหรือผื่นแห้งเป็นสะเก็ดประมาณ 7 – 10 วัน

     2. รักษาความสะอาดบริเวณผิวหนังที่มีผื่นหรือตุ่ม ห้ามผู้ป่วยเกา ตัดเล็บให้สั้น เสื้อผ้าต้องสะอาดและแห้งอยู่เสมอ

     3. เช็คตัวและให้ยาลดไข้ ตามที่แพทย์สั่ง

     4. ใช้ผ้าหรือกระดาษเช็ดหน้าปิดปาก จมูก ขณะไอ จาม แล้วทิ้งในถังขยะที่มีฝาปิด

     5. ให้อาหารอ่อน ย่อยง่าย รสไม่จัด กินของเย็นได้

     6. แยกภาชนะในการดื่มน้ำและรับประทานอาหารร่วมกับผู้อื่น

     7. อาบน้ำด้วยสบู่อ่อน เพื่อป้องกันการระคายเคือง กรณีคัน ให้ทายาคาลาไมน์ ตามที่แพทย์สั่ง

     8. ให้พักผ่อนอย่างเพียงพอในห้องที่มีอากาศถ่ายเทสะดวก ทำความสะอาดห้องด้วยน้ำผสมผงซักฟอก

     9. รักษาความสะอาดของร่างกายและสิ่งแวดล้อมทุกครั้งที่ขับถ่าย โดยเฉพาะเชื้อสามารถอยู่ในอุจจาระได้นาน 2 – 3 สัปดาห์

     10. หลีกเลี่ยงการนำเด็กป่วยไปในสถานที่ชุมชนแออัด เช่น ศูนย์การค้า ตลาด

     11. ของเล่นที่เด็กอาจเอาเข้าปากได้ ให้ทำความสะอาดด้วยสบู่หรือผงซักฟอกตามปกติแล้วนำไปผึ่งแดดให้แห้ง

     12. มาตรวจตามนัดหรือกรณีอาการแย่ลงให้รีบมาพบแพทย์ ได้แก่ อาการซึม แขนขาอ่อนแรง เกร็ง กระตุก ตัวเย็น อาเจียน หอบ หน้าซีด

เกณฑ์การให้ภูมิคุ้มกันของเด็กไทย

     1. เด็กทารกแรกคลอด จะได้รับวัคซีนพื้นฐาน คือ วัคซีน B.C.G.(วัคซีนป้องกันวัณโรค)และวัคซีนป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

     2. อายุ 1 เดือน วัคซีน ป้องกันไวรัสตับอักเสบบี

     3. อายุ 2,4 เดือน วัคซีน ป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ และ ไวรัสตับอักเสบบี และหยอดวัคซีนป้องกันไวรัศโรต้า

     4. อายุ 6 เดือน วัคซีน ป้องกันโรค คอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ เยื่อหุ้มสมองอักเสบฮิบ และ ไวรัสตับอักเสบบี

     5. อายุ 9 เดือน วัคซีน หัด หัดเยอรมัน คางทูม

     6. อายุ 1ปี วัคซีน ไข้สมองอักเสบ เจอี

     7. อายุ 1ปีครึ่ง,4ปี วัคซีน เข็มกระตุ้นคอตีบ ไอกรน บาดทะยัก โปลิโอ

     8. อายุ 2ปีครึ่ง วัคซีนกระตุ้น หัด หัดเยอรมัน คางทูม

ทางโรงพยาบาลศรีสวรรค์ ได้คัดเลือกวัคซีนที่มีคุณภาพ ราคาประหยัด จัดทำเป็น Package ซึ่งวัคซีนที่เลือกมา เป็นวัคซีนไข้ต่ำ ฉีดต่อเนื่องมีการจัดเก็บภายใต้อุณหภูมิที่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องกังวลกรณีวัคซีนขาดตลาด หรือปรับราคาสูงขึ้น