Responsive image

โรคที่พบบ่อย

1. โรคหลอดเลือดหัวใจตีบหรืออุดตัน

     เกิดจากหลอดเลือดแดงไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจแข็งตัว หรือมีไขมันเกาะที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแดงตีบแคบลง เลือดผ่านไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนปลายต่อตำแหน่งที่ตีบได้น้อยลง ทำให้เกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด หากรุนแรงสามารถทำให้กล้ามเนื้อหัวใจตายได้ ผู้ป่วยจะมีอาการเจ็บแน่นหน้าอกเหมือนมีอะไรมาทับ หรือบีบรัด โดยเฉพาะอย่างยิ่งเวลาออกแรง พักหรืออมยาใต้ลิ้นแล้วอาการจะดีขึ้น โดยผู้ป่วยจะรู้สึกจุก แน่น อึดอัดบริเวณกลางหน้าอก บางรายอาจมีอาการเจ็บร้าวไปที่คอหอย กราม หรือแขน/ไหล่ข้างซ้าย หรือแขนซ้าย หรือในบางรายอาจมีแสบร้อนบริเวณลิ้นปี่ซึ่งอาการคล้ายกับโรคกระเพาะอาหาร ในผู้ป่วยบางรายอาจไม่มีอาการเจ็บแน่นหน้าอก แต่จะมีอาการเหนื่อยง่ายกว่าปกติ

ปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดโรค

    • กรรมพันธุ์ มีความผิดปกติทางพันธุกรรมทำให้ไขมันในเลือดสูง
    • ประวัติครอบครัว หากมีญาติสายตรงที่เป็นชายเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อนอายุ 55 ปี หรือญาติสายตรงที่เป็นหญิงเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบก่อนอายุ 65 ปี อาจจะทำให้มีความเสี่ยงต่อโรคนี้เพิ่มขึ้น
    • อายุและเพศ เพศชายอายุ 40 ปีขึ้นไป หรือหญิงอายุ 50 ปีขึ้นไปหรือวัยทองหลังหมดประจำเดือน ผู้ชายมีโอกาสเป็นโรคหลอดเลือดหัวใจตีบมากกว่าผู้หญิง แต่เมื่อผู้หญิงเข้าสู่วัยหมดประจำเดือนแล้ว ความเสี่ยงจะสูงเท่ากับผู้ชาย
    • การสูบบุหรี่ หรือเคยสูบบุหรี่แต่เลิกมาแล้ว หรือได้รับควันบุหรี่สม่ำเสมอเนื่องจากคนใกล้ชิดสูบบุหรี่ บุหรี่ทำให้ระดับไขมันดีลดลง และสารพิษในบุหรื่ เช่น นิโคติน มีผลทำลายผนังหลอดเลือดแดง ไฮโดรเจนไซยาไนด์ทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว นอกจากนั้นบุหรี่ยังทำให้เลือดจับกันเป็นก้อนได้ง่ายขึ้น คนที่สูบบุหรี่จะมีแนวโน้มเกิดโรคหัวใจมากขึ้น 2-4 เท่า และมีโอกาสเกิดภาวะหัวใจขาดเลือดเพิ่มขึ้น 2 เท่า
    • น้ำหนักตัวเกิน ในผู้ป่วยโรคอ้วน หัวใจจะต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงทั่วร่างกาย โดยเฉพาะคนที่มีไขมันบริเวณรอบเอว (เกิน 40 นิ้วในผู้ชาย และเกิน 35 นิ้วในผู้หญิง) จะเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคหลอดเลือดหัวใจ การศึกษาในประเทศไทยพบว่าผู้ที่เป็นโรคอ้วนจะมีระดับไขมัน ระดับน้ำตาล และความดันโลหิตสูงกว่าคนน้ำหนักปกติ
    • ขาดการออกกำลังกาย การออกกำลังกายที่ถูกต้องจะช่วยเพิ่มไขมันดี และลดไขมันเลว ทำให้ร่างกายตอบสนองต่ออินซูลินดีขึ้น และช่วยลดความโลหิต การออกกำลังกายประจำจะช่วยให้หลอดเลือดมีความยืดหยุ่นดีขึ้น พบว่าคนที่ไม่ค่อยออกกำลังกายมีแนวโน้มที่จะเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจมากกว่าคนที่ออกกำลังกายเกือบ 2 เท่า
    • ความเครียด ทำให้กิดความผิดปกติของระบบประสาทซิมพาเธติก กระตุ้นให้หัวใจเต้นเร็วขึ้นแรงขึ้น หัวใจทำงานหนักขึ้น ผู้ป่วยที่มีหลอดเลือดหัวใจตีบอยู่ อาจทวีความรุนแรงขึ้น ในบางรายเมื่อรู้สึกเครียด จะรับประทานอาหารมากขึ้น หรือสูบบุหรี่ ซึ่งส่งผลต่อการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจ
    • โรคความดันโลหิตสูง ความดันโลหิตที่สูงทำให้หัวใจต้องทำงานหนักขึ้นเพื่อสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงอวัยวะต่างๆ ทั่วร่างกาย ทำให้ผนังของหัวใจเกิดการหนาตัว ขยายของหัวใจใหญ่ขึ้นกว่าปกติ
    • ไขมันในเลือดสูง เมื่อร่างกายมีระดับไขมันในเลือดสูงสะสมอยู่ในระยะเวลานาน อาจทำให้หลอดเลือดแดงแข็งตัว จนทำให้เกิดการตีบของหลอดเลือดได้
    • โรคเบาหวาน เป็นภาวะที่ร่างกายมีระดับน้ำตาลในเลือดสูงกว่าปกติ เป็นโรคเรื้อรังซึ่งจะมีการเปลี่ยนแปลงที่ผนังหลอดเลือด ทำให้หลอดเลือดแข็งหรือตีบ

2. โรคกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน/หัวใจวายเฉียบพลัน

     เกิดจากการมีลิ่มเลือดอุดตันในหลอดเลือดหัวใจอย่างเฉียบพลัน เนื่องจากคราบไขมันที่เกาะบนผนังหลอดเลือดหัวใจเกิดการปริแตก ร่างกายจะพยายามซ่อมแซมตำแหน่งที่ปริโดยเกร็ดเลือดจะจับกันเพื่อปิดบริเวณที่ปริ ลักษณะคล้ายเวลาที่เราโดนมีดบาดและมีเลือดออกเมื่อเวลาผ่านไปซักระยะบริเวณที่มีบาดแผลจะมีลิ่มเลือดอุดตรงปากแผลทำให้เลือดหยุด เช่นเดียวกันกับในหลอดเลือดหัวใจ เมื่อเกิดการปริแตกของคราบไขมัน เกร็ดเลือดจะทำหน้าที่จับกันเป็นก้อน ในผู้ป่วยบางรายเกร็ดเลือดจับกันเป็นก้อนใหญ่จนทำให้อุดกั้นการไหลของเลือดไปเลี้ยงกล้ามเนื้อหัวใจส่วนปลาย ทำให้เกิดการขาดเลือดเฉียบพลัน และทำให้เกิดการตายของกล้ามเนื้อหัวใจ
     ผู้ป่วยจะมีอาการแบบเดียวกับโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ อาการเจ็บแน่นหน้าอกเป็นนานเกินกว่า 1 นาทีขึ้นไป มีเหงื่อออก หายใจถี่กระชั้น วิงเวียน หน้ามืด ชีพจรเต้นเร็ว บางรายอาจมีอาการคลื่นไส้อาเจียนร่วมด้วย

3. โรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง

     กล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรงมีหลายประเภท ประเภทที่พบบ่อยได้แก่ กล้ามเนื้อหัวใจขยายตัว (dilated cardiomyopathy) กล้ามเนื้อหัวใจจะถูกยืดออกและบางตัวลง มักเริ่มเกิดที่หัวใจห้องล่างซ้ายซึ่งเป็นห้องหลักในการสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงร่างกาย และค่อยลามไปที่หัวใจห้องล่างขวา และหัวใจห้องบน กล้ามเนื้อหัวใจที่ขยายตัวมักจะมีการบีบตัวที่ไม่ปกติ ส่งผลให้เกิดภาวะหัวใจล้มเหลวตามมาในที่สุด ในขณะเดียวกล้ามเนื้อหัวใจที่ขยายตัวออกจะทำให้ห้องหัวใจมีขนาดใหญ่ขึ้น ทำให้การทำงานของลิ้นหัวใจ และการนำไฟฟ้าของหัวใจผิดปกติ และในผู้ป่วยบางรายเนื่องจากการบีบตัวของหัวใจที่ไม่ปกติ เลือดจะค้างอยู่ในห้องหัวใจนานขึ้นเลือดเกิดการจับตัวกันเป็นก้อน ซึ่งถ้าก้อนเลือดหรือลิ่มเลือดหลุดไปอุดที่หลอดเลือดที่เลี้ยงอวัยวะใดก็จะทำให้อวัยวะนั้น เกิดการขาดเลือด เช่น หลุดไปหลอดเลือดสมอง ผู้ป่วยจะเกิดอัมพฤกษ์/อัมพาต หลุดไปอุดที่หลอดเลือดหัวใจผู้ป่วยจะมีภาวะกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน เป็นต้น
     สาเหตุหลักมักเกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด ส่วนน้อยที่เกิดจากกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ เกิดการติดเชื้อของหัวใจโดยเฉพาะการติดเชื้อไวรัส ขาดสารอาหารบางประเภท เช่น vitamin B1 หรือได้รับสารพิษบางชนิด เช่น แอลกอฮอล์ ผลข้างเคียงจากการรักษาโรคอื่น เช่น ได้รับเคมีบำบัด หรือภาวะแทรกซ้อนจากการตั้งครรภ์ในระยะใกล้คลอด หรือภายใน 5 เดือนหลังการคลอดบุตร หรือในผู้ป่วยโรคความดันโลหิตสูง เบาหวาน ไทรอยด์ ไวรัสตับอักเสบ และโรคภูมิคุ้มกันบกพร่อง (Anti-HIV positive)
     ผู้ป่วยจะมีอาการเหนื่อยง่าย ชีพจรเต้นเร็ว แน่นหน้าอก หายใจไม่อิ่ม ขาทั้งสองข้างบวมกดบุ๋ม ท้องโต อึดอัดแน่นท้อง เส้นเลือดที่คอโป่ง นอนราบนานๆ ไม่ได้มีอาการไอต้องลุกขึ้นนั่ง ในบางรายต้องตื่นจากการนอนขึ้นมากลางดึกเพื่อมาลุกนั่ง หรือบางรายต้องนอนศีรษะสูงหรือกึ่งนั่ง

4. โรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ

     เกิดจากสัญญาณไฟฟ้าที่ควบคุมการเต้นของหัวใจทำงานผิดปกติ โดยเซลล์ประสาทนำสัญญาณไฟฟ้าอาจถูกทำลาย หรือนำสัญญาณได้ไม่ดี หรือเกิดไฟฟ้าลัดวงจรภายในหัวใจ ส่งผลให้หัวใจเต้นเร็วเกินไป หรือช้าเกินไป ส่งผลให้การสูบฉีดเลือดของหัวใจไม่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ยังอาจเป็นผลมาจากยาบางชนิดได้ เช่น ยาต้านโรคซึมเศร้ากลุ่มไตรไซคลิก (tricyclic antidepressant) ยาแก้แพ้กลุ่มต้านฮิสตามีน (antihistamine) ยากลุ่มเบต้าบล๊อกเกอร์ (beta bocker) ยาเสพติด เช่น ยาบ้า รวมถึงสารจำพวกคาเฟอีน และนิโคตินก็ทำให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะได้
     อาการที่พบบ่อย ได้แก่ ใจสั่น รู้สึกหัวใจเต้นรัวและแรง หัวใจเต้นไม่เป็นจังหวะ เจ็บหน้าอก บางรายอาจมีอาการเวียนศีรษะ หรืออาจหน้ามืด วูบหมดสติ ได้

การรักษา

1. การขยายหลอดเลือดหัวใจตีบด้วยบอลลูน (Percutaneous Coronary Intervention: PCI)

     เป็นหัตถการที่สามารถทำต่อเนื่องจากการฉีดสีได้เลยโดยผู้ป่วยไม่ต้องเจ็บตัวซ้ำ เมื่อทราบว่าหลอดเลือดหัวใจตีบที่ตำแหน่งใดแล้ว แพทย์จะทำการร้อยลวดเส้นเล็กๆ ผ่านตำแหน่งที่ตีบ และใส่บอลลูนตามลวดไปจนถึงจุดที่ตีบ แล้วทำการกางบอลลูนออก บอลลูนที่กางออกจะไปเบียดคราบไขมันให้แนบไปกับผนังหลอดเลือด หลังจากนั้นจึงใส่ขดลวดเข้าไปค้ำยันตำแหน่งที่ตีบ เพื่อลดการกลับมาตีบซ้ำ โดยขดลวดที่ใช้มีหลายประเภท ตั้งแต่ขดลวดที่ทำจากสแตนเลส หรือที่ทำจากโคบอลท์โครเมี่ยม และมีทั้งขดลวดเคลือบยา และไม่เคลือบยา ซึ่งความเหมาะสมของการใช้ขดลวดแต่ละประเภทขึ้นอยู่กับผู้ป่วยแต่ละราย หลังทำหัตถการเสร็จแพทย์จะให้ผู้ป่วยพักในแผนกผู้ป่วยหนักโรคหัวใจเพื่อติดตามดูอาการอย่างใกล้ชิดในระยะแรกหลังทำ โดยปกติแพทย์จะให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาล 1 คืนหลังทำหัตถการ

2. การจี้ไฟฟ้าหัวใจด้วยคลื่นวิทยุความถี่สูง (Radiofrequency ablation: RFA)

     เป็นการรักษาภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะ ที่สามารถทำต่อเนื่องหลังจากทำการศึกษาสรีรวิทยาไฟฟ้าหัวใจ โดยแพทย์จะทำการฉีดยาชาบริเวณขาหนีบข้างขวา แล้วใส่สายสวนผ่านทางหลอดเลือดดำหรือหลอดเลือดแดงที่ขาเข้าไปตรงตำแหน่งที่ทำให้เกิดการเต้นผิดจัง แล้วปล่อยคลื่นวิทยุความถี่สูงเข้าไปสายสวนไปทำลายตำแหน่งที่เป็นจุดกำเนิดของการเต้นผิดปกติ หรือตัดวงจรลัด หลังทำการตรวจแพทย์จะดึงเอาสายสวนทั้งหมดออก และให้ผู้ป่วยนอนโรงพยาบาลเพื่อดูอาการอย่างน้อย 1 คืน ในภาวะหัวใจเต้นผิดจังหวะบางชนิดการรักษาวิธีนี้ผู้ป่วยมีโอกาสหายขาดได้ถึง 95% ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรับประทานยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจอีก

3. การรักษาด้วยยา (รายละเอียดจากแผนกเภสัช)

    • ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ
ยาต้านเกร็ดเลือด
ยาลดไขมัน
ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
ยาควบคุมความดันโลหิต
    • ผู้ป่วยโรคกล้ามเนื้อหัวใจอ่อนแรง
ยาขับปัสสาวะ
ยาควบคุมการเต้นของหัวใจ
    • ผู้ป่วยโรคหัวใจเต้นผิดจังหวะ
ยาควบคุมจังหวะการเต้นของหัวใจ
ยาป้องกันการแข็งตัวของเลือด
โปรโมชั่นที่แนะนำ โปรแกรมต่างๆ เช่น วัคซีน ตรวจสุขภาพ
โปรแกรมตรวจสุขภาพหัวใจ " โปรแกรม วัดใจ "